มีบทความทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องที่เราๆ พบเห็นในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ พฤติกรรม “แคะขี้มูก” ผลงานการศึกษาของ ดร. เจสัน จี. โกลด์แมน นักวิทยาศาสตร์แนวจิตวิทยาและนักวิจัยพฤติกรรมของสัตว์ชาวอเมริกัน ที่พาดหัวเรื่องเป็นคำถามว่า ทำไมคนเราต้องชอบแคะจมูก?
แท้จริงแล้ว งานวิจัยเรื่องนี้เริ่มต้นมาจากนักวิจัยชาวอเมริกันสองคนคือ ธอมป์สัน และเจฟเฟอร์สัน ที่ส่งแบบสำรวจไปตามไปรษณีย์ให้กับผู้ใหญ่ 1,000 คนในย่านเดน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีคนตอบกลับมาเพียง 254 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 91 มีนิสัยชอบแคะจมูก ในขณะที่เพียงร้อยละ 1.2 ที่ยอมรับว่า ชอบแคะถี่มาก ต้องแคะอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง นอกจากนี้ ยังมีผู้ตอบแบบสำรวจอีก 2 คน เขียนมาว่า ตนแคะจมูกมากจนเป็นแผลที่ผนังกั้นรูจมูก
แม้ว่างานวิจัยครั้งนั้นจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรก็ตามเนื่องจากมีผู้ตอบแบบสำรวจกลับมาเพียง1ใน4 ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป แต่ก็ยังพอขีดเส้นใต้ความเป็นไปได้ที่ว่า พฤติกรรมที่ชอบแคะจมูก หรือ rhinotillexomania นั้นกำลังระบาดออกไปมากราวกับโรค ถึงแม้บางแห่งอาจถือเป็นเรื่องต้องห้ามทางวัฒนธรรมก็ตาม
อีก 5 ปีต่อมา คุณหมอชาวอินเดีย 2 คนชื่อ จิตรันจัน อันธเรท และ บีเอส ศรีหริ จากสถาบันสุขภาพจิตและระบบประสาทแห่งชาติในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ก็ทำงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมชอบแคะจมูกกันอีก โดยวิเคราะห์แบบเจาะลึกมากกว่าเดิม จนได้รางวัลอิกโนเบล ที่ล้อเลียนรางวัลโนเบล ไปเมื่อปี 2554
คุณหมอทั้งสองกล่าวว่า ส่วนมากแล้ว เด็กกับวัยรุ่นจะมีนิสัยแบบนี้กันมากกว่าพวกผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นแล้ว พวกท่านนี้จึงเลือกสำรวจเฉพาะเยาวชนเท่านั้น โดยเล็งเป้าไว้ที่โรงเรียน 4 แห่งในเมืองบังกาลอร์ แล้วไล่สำรวจไปตามห้องเรียน จนในที่สุดก็ได้ข้อมูลมาจากวัยรุ่น 200 คน ซึ่งเกือบทุกคนยอมรับว่าตนมีนิสัยชอบแคะจมูก และโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 4 ครั้งต่อวัน
เพียงเท่านี้อาจจะยังสรุปอะไรไม่ได้มาก เพราะที่จริงแล้ว จุดน่าสนใจคือ มีเพียงร้อยละ 7.6 ของเด็กนักเรียนเท่านั้น ที่ยอมรับว่า วันหนึ่งตนแคะจมูกเกินกว่า 20 ครั้ง ในขณะที่เกือบร้อยละ 20 เปิดเผยว่า ติดนิสัยนี้แบบเรื้อรังจริงๆ ซึ่งส่วนมากก็ให้เหตุผลว่า ที่แคะจมูกเพราะจะได้แก้อาการคันแล้วก็เอาขี้มูกออกด้วย ในขณะที่อีกส่วนน้อยบอกว่า ทำไปแค่เพราะมันรู้สึกดีเท่านั้น
แต่ความแปลกพิลึกจริงๆอยู่ตรงที่ว่า จากนักเรียนทั้งหมด 200 คน มีหลายคนที่ไม่ได้ใช้แค่นิ้วมือเท่านั้นในการแคะจมูก โดย 13 คนบอกว่าตนใช้แหนบ หรือคีมอันเล็กๆ แยงเข้าไป ในขณะที่อีก 9 คนบอกว่าใช้ดินสอ และที่พิสดารที่สุดเห็นจะเป็นอีก 9 คนกลุ่มหลังที่สารภาพว่าพอแคะขี้มูกออกมาได้แล้ว ก็จะกินเข้าไปต่อ
จากการสำรวจของคุณหมออันธเรท และศรีหริ ทำให้เห็นว่า พฤติกรรมการชอบแคะจมูกนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ชนชั้นทางสังคมแต่อย่างใด เพราะโรงเรียนทั้ง 4 แห่งที่ไปเลือกสำรวจ แม้ว่าเด็กนักเรียนจะมาจากต่างชนชั้นกัน ตั้งแต่ระดับล่างสุดไปจนถึงผู้มีอันจะกิน แต่ก็มีพฤติกรรมแบบเดียวกันหมด
จุดต่างจริงๆ อาจจะอยู่ที่เพศ โดยที่เด็กผู้ชายจะชอบแคะจมูกมากกว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงมักจะมองว่าเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ และตามสถิติแล้ว เด็กผู้ชายจะมีนิสัยที่ไม่ดีมากกว่าเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการชอบแทะเล็บ หรือทึ้งผมตัวเองก็ตาม
พฤติการการแคะจมูกถือเป็นดาบ 2 คม คมหนึ่งไม่จัดว่าเป็นเรื่องอันตราย ในขณะที่อีกคมหนึ่งจะพบได้ในเคสพิเศษ สำหรับคนที่เป็นโรคชอบแคะจมูกแบบเรื้อรังพิเศษจริงๆ จนสามารถก่อให้เกิดผลร้ายอย่างอื่นตามมาได้อย่างคาดไม่ถึง
บางรายถ้ารุนแรงมากก็อาจต้องพึ่งศัลยแพทย์ซึ่งบางทีก็รักษาไม่หายอย่างเช่นหญิงนิรนามวัย53ปีผู้หนึ่ง ติดนิสัยชอบแคะจมูกมาก จนไม่เพียงแต่ทำให้ผนังกั้นรูจมูกของเธอพรุนเท่านั้น แต่ยังทำให้ไซนัส หรือโพรงอากาศในกะโหลกเป็นรูอีกด้วย
หรืออีกกรณีหนึ่งคือ หนุ่มนิรนามวัย 29 ปี ที่มีทั้งพฤติกรรมชอบแคะจมูกและดึงขนจมูก จนสุดท้ายแล้วโพรงจมูกเลยอักเสบ แต่หมอก็ใช้ยารักษาให้ได้ โดยมีผลข้างเคียงคือ จมูกเขากลายเป็นสีม่วง
นอกจากนี้ เมื่อปี 2549 ยังมีกลุ่มนักวิจัยชาวดัตช์กล่าวถึงผลร้ายอีกข้อของการแคะจมูกว่า เป็นการสะสมเชื้อแบคทีเรียชั้นเลิศ โดยค้นพบว่า ตามคลินิกหู คอ จมูกนั้น ซึ่งปกติสถานพยาบาลก็เป็นที่ที่ไม่ค่อยจะสะอาดอยู่แล้ว แต่ใครที่มีพฤติกรรมชอบแคะจมูก จะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคเสียงยิ่งกว่าคนที่ไม่แคะจมูกเสียด้วยซ้ำ
ปิดท้ายด้วยข้อวิเคราะห์ว่า ในเมื่อพฤติกรรมการแคะจมูกก่อให้เกิดอันตราย และความรังเกียจภายในสังคมได้แล้ว แต่ทำไมเราจึงยังทำมันอยู่
แม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวแต่จากบทความที่อาจารย์ทอมสตัฟฟอร์ดจากภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ประเทศอังกฤษ เคยเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมชอบแทะเล็บเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของความพอใจ ผนวกกับจมูกเป็นอวัยวะที่ใกล้ตัวมาก ลูบหน้าก็ปะจมูกเมื่อนั้น
แสดงความคิดเห็น