[รีวิว] การออกแบบ “เรือนเมฆหมอก” เรือนหลังน้อยสไตล์ไทยประยุกต์
ใครที่กำลังต้องการสร้างบ้านหลังเล็ก หรือต้องการสร้างเรือนรับรอง สำหรับรองรับแขก หรือเอาไว้นอนเล่นชิว ๆ ต้องห้ามพลาดรีวิวนี้เลยค่ะ ตามมาจดเทคนิคการออกแบบ ก่อนการสร้างกันไปพร้อมกันเลยนะ
[รีวิวบ้าน] … กว่าจะเป็นเรือนหลังน้อย … เรือนเมฆหมอก ตอนที่ 1 การออกแบบ
ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรมาก … ขอเริ่มเลยนะครับ …
บทนี้ผมขอรีวิวเรือนน้อยหลังนี้ครับ … ผมขนานนามเรือนกึ่งไม้กึ่งปูนหลังนี้ว่า “เรือนเมฆหมอก”
เรือนที่จะรีวิว คือ เรือนน้อยหลังนี้ครับ
วัตถุประสงค์การสร้างเรือนเล็กหลังนี้
– ไว้ใช้สำหรับรับรองแขก (บ้านในสวนของผมมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยียนเสมอ เดิมทีใครมาก็นอนกลางบ้านเอา อย่างเดียว)
– เอาไว้อยู่อาศัยเองยามอยากชิวตอนเข้ามาบ้านในสวน
– ผมมีแผนที่จะรีโนเวทบ้านให้พ่อกับแม่ครั้งใหญ่ ซึ่งบ้านไม้หลังนี่นเดิมเป็นของคุณยาย คุณยายยกให้แม่ เป็นบ้านไม้ยกพื้นอายุ 40 ปี ถึงแม้ว่าจะรีโนเวททำมาหลายครั้งก็ตามแต่ก็ไม่เคยทำเรื่องของโครงสร้าง วันนี้บ้านเริ่มมีปัญหาโครงสร้างเสาปูนเริ่มร้าว หลังคารั่ว วัสดุหลายๆอย่างเสื่อมสภาพ ฯลฯ … ถ้ารีโนเวทครั้งใหญ่ก็จำต้องมีบ้านสำรองไว้เพื่ออยู่อาศัยตอนเวลานั้น
คอนเซ็ป บ้านหลังเล็กๆเอาแบบ 1 ห้องนอนแล้วก็ 1 ห้องน้ำพอ อยากได้สไตล์วิลล่าให้ประหนึ่งเหมือนมีรีสอร์ทอยู่ในบ้าน เรามานอนเราก็ชอบ แขกมาพักแขกก็ถูกใจ ผมอยากได้บ้านไทยร่วมสมัยๆนิดๆ … ดูสบายตา ลมเย็น ไม่อุดอู้ มีชานกว้างๆ … ตกลงปลงใจได้ก็เรียกเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาดูพื้นที่จริง … เรือนนี้ผมอยากตั้งไว้ใกล้ๆบ้านเดิม จะได้เดินไปมาสะดวก
นอกจากบ้านหลังน้อยแล้วผมยังต้องการห้องเก็บของเล็กๆสักหลังด้วย เพราะ ตอนนี้ของต่างๆวางระเกะระกะตามมุมต่างๆของบ้านมากเกินไป ไม่เป็นสัดเป็นส่วนเลย เลยอยากจะสร้างห้องเก็บของสักหลังด้วย
ในรัศมีรอบบ้านก็สร้างได้ทุกจุด เพราะเป็นบ้านในสวน ผมเลือกจุดทางทิศเหนือเดิมทีตรงนี้ยายผมเอาไว้ใช้เลี้ยงหมูแต่พอยายเสียไปก็เลิกเลี้ยงนานเป็นสิบปี … ทางด้านนี้เป็นดินลาดเอียงต่ำกว่าบ้านใหญ่ลงมาหลายเมตร มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นหลายต้น … สรุปผมเลือกตรงนี้
โครงเล้าหมูเก่าใต้ต้นหว้า
การทำงานของผมกับเพื่อนสถาปนิก เป็นอย่างนี้ครับ คือ ตกลงงาน ค่าเหนื่อย ขอบข่ายงาน คุยคอนเซ็ป ทำแบบแปลนพร้อมตีปร่างมาให้เลือก 2 แบบ(เป็นอย่างน้อย) เลือก 1 ในนั้นเพื่อนำมาพัฒนาต่อ(หรือไม่เลือกเลยเอาใหม่) …. ส่งแบบที่พัฒนาแล้วมาให้เลือก 2 แบบ(เป็นอย่างน้อย) เลือก 1 ในนั้นเพื่อนำมาพัฒนาต่อ …. ส่งแบบที่พัฒนาแล้วมาให้เลือก … การทำงานของผมกับเพื่อนจะเป็นอย่างนี้ครับ สรุปแบบจบแล้วค่อยมาลงรายละเอียดวัสดุ
หายไปหลายวัน … มาแล้วครับแบบร่าง แบบที่ 1 (สีเขียวด้านซ้ายคือตัวเรือนเดิม) … ผมว่ามันเหมือนเรือนเพาะเห็ดอ่ะ … ตัดไป
แบบร่าง แบบที่ 2 อืมก็ดีนะ แต่มันเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง
แบบร่าง แบบที่ 3 นี่ล่ะสิ่งที่ตามหา มิติ จัดแนว การเอียงมุมนี้ สวยยยยยยยๆ เอาแบบนี้
ไหนดูแปลนซิ … ใช้ได้ ลุยต่อ
“นาย … เราอยากได้หลังคากระเบื้องว่าวแบบไทยนิดๆอ่ะ ลองขึ้นตีปให้ดูหน่อยสิเพื่อน”
“จัดไป” หายไปเพียงชั่วน้ำเดือดก็กลับมาพร้อมกับ หลังคากระเบื้องว่าวทรงไทย
มาพร้อมกับ 2 ทางเลือก หลังคาทรงไทยกับลานกว้าง
หลังคาทรงไทยกับลานกว้างที่มีระแนงไม้
“หลังคาสวยถูกใจเอาๆๆ แต่เอาแบบไม่มีระแนงนะ … ไหนลงดีเทลมาดูหน่อย อย่ากั๊กๆ”
หลังคาทรงนี้ใช้ได้วุ้ย สีเขียวขี้ม้าสวยดี … หลังคาจบครับ!!! งานหลังจบล่ะก็เริ่มหาของ … หลายวันผ่านไป ผมโทรหาเพื่อนสถาปนิก …
“เฮ้ยนาย!!! เราหาซื้อหลังคาไม่ได้ว่ะ ลองสืบแล้วเหมือนว่ากระเบื้องว่าวไม่ทำสีเขียวขี้ม้า ลองดูสีอื่นก็ไม่ถูกใจเราว่ะ เอาไงดีนาย!!!!!”
“เปลี่ยนทรงมั้ย???”
“เออลองดิ๊!!!”
“นายชอบธรรมชาติ สนใจหลังคาไม้ซีดาร์มั้ยล่ะ ตามรีสอร์ทชอบใช้”
“เราเคยเห็น ชอบๆ ลองใส่มาดูดิ๊!!!”
แบบที่ 1 หลังคาซีดาร์ทรงบาหลีนิดๆ สูงปรี๊ดดดด
แบบที่ 2 หลังคาซีดาร์ มาพร้อมกับหลังคาสองชั้น สวยถูกใจ
“ซุ้มประตูทางเข้ามันไม่โดนอ่ะ มีตัวเลือกอื่นมั้ย?”
“มีเดี๋ยวจัดให้”
“สรุปเอาซุ้มปูนสวยถูกใจ … ชอบหมด นายมีอะไรจะนำเสนออีกมั้ย?”
“มีเราว่าห้องเก็บของดูเรียบไปกลืนกับเรือนเกินไป เดี๋ยวเราออกแบบห้องเก็บของใหม่เป็นหลังคาปูน นายเคยเห็นมั้ย?”
“เรานึกไม่ออก ลองทำมาดูดิ๊!!!”
“สวยงามที่สุด เอาๆๆๆๆๆ”
เอาล่ะหลังจากแบบสถาปนิกจบก็จะได้ไฟล์ออกแบบภาพตัดภาพขยาย สถาปนิกก็จะส่งแบบมาให้เป็นชุด ก็เอาแบบไปให้วิศวกรดูต่อ … ไม่นานก็ออกมาเป็นแบบวิศวกร พร้อมภาพตัวอย่าง เช่นอันนี้แบบโครงหลังคา หลังคาที่ผมใช้เป็นหลังคาไม้ซีดาห์ที่ต้องปูไม้อัดก่อนค่อยปูไม้ทับ ดังนั้นตอนผมส่งแบบให้วิศวกรการคำนวณผมจึงส่ง รายละเอียดของวัสดุหลังคาไปด้วย
เมื่อได้แบบวิศวกรผมก็ส่งกลับไปให้สถาปนิกตรวจสอบอีกครั้ง … สถาปนิกมีความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของโครงหลังคาที่อยากจะเพิ่มพื้นที่ภายใน และเพิ่มลูกเล่นหลังคา อ่อๆๆๆๆ เฮ้ยๆๆ เริ่มเยอะเริ่มงง … ผมก็เลยนัด วิศวกรกับสถาปนิกมาเจอกันเลย!!!! สรุปมีการเปลี่ยนแบบไปหลายอย่าง อย่างเช่นหลังคาที่ซับซ้อนกว่าเดิมเล็กน้อย
มาว่ากันต่อที่ภายในบ้านบ้าง
“นายลองทำภายในมาให้เราดูหน่อยสิ ยังนึกไม่ออก”
“อยากได้ภายในยังไง”
“อยากได้เป็นงานไม้”
“จัดให้”
แท่น แทน แท้นๆๆๆๆๆ …
“เราว่าขอบบนมันแคบๆนะ แล้วอีกอย่างไม่เอาโคมระย้าได้มั้ย เดี๋ยวเมียเราเกิดชอบขึ้นมาแล้วซื้อมาจริง และสั่งให้เราเช็ดบ่อยๆนี่งานเข้าเลยทีนี้” … หนึ่งวันผ่านไป แบบใหม่ก็มา
ผังเฟอร์นิเจอร์และตำแหน่งไฟภายใน
กว่าจะลุยแบบจบก็เล่นเอาหลายยกใช้เวลาหลายสัปดาห์ ผมกับสถาปนิกและวิศวกรคุยกันเยอะมากๆ เพื่อต้องการสิ่งที่ลงตัวที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้
ขอจบงานออกแบบสถาปนิกและโครงสร้างด้วยภาพนี้ครับ
จบตอนที่ 1 ครับ … ตอนต่อไปเป็นเรื่องของการก่อสร้าง และรูปเมื่อเสร็จสมบูรณ์
ถ้าเรียบเรียงเสร็จจะรีบนำมาให้ชมกันต่อทันทีครับ … โปรดติดตามตอนต่อไป
ปล.
ขอแถมด้วย … คำอธิบายประกอบการออกแบบ จากสถาปนิกที่ออกแบบเรือนหลังนี้
การต่อเติมเรือนรับรองนี้เริ่มมาจากทางเจ้าของบ้านต้องการเรือนพักรับรองแขกของแม่ ในยามที่มีแขกมาเยี่ยมเยียน และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเรือนอยู่อาศัยปกติในยามที่ไม่มีแขกมาพักค้างคืน โดยแยกออกมาจากบ้านเดิม และเพิ่มเติมในส่วนพื้นที่เก็บของที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย
พื้นที่บริเวณส่วนต่อเติมนั้นเป็นส่วนนั่งเล่นต่อเนื่องไปยังส่วนซักล้าง ลักษณะเปิดโล่งถึงหลังคาบ้านสองชั้นเดิม หันหน้ารับวิวสวน ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดลงจากตัวบ้านเดิม
การวางผังโดยรวมจะแบ่งหลักๆออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ส่วนหลังบ้านซักล้าง ลานตากผ้าและห้องเก็บของ
2.เรือนรับรอง
“แบ่ง”
ส่วนหลังบ้านจากบ้านเดิม ด้วยการกั้นกำแพงกึ่งทึบกึ่งโปร่งด้วยบล็อคช่องแสง
“เชื่อม”
เรือนรับรองจากบ้านเดิม ด้วยทางเดินไล่ระดับชมสวนเมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูเล็กๆ ซึ่งผู้ใช้จะถูกนำสายตาด้วยแนว กำแพงโปร่งซ่อนไฟ ระหว่างทางเดินไล่ระดับมีจุดพักเป็นศาลาเล็กๆสำหรับนั่งเล่น สร้างเรื่องราวและมุมมองชมสวนที่จะตกแต่งเพิ่มเติมในอนาคตก่อนจะเข้าถึงพื้นที่เรือนรับรอง
การวางแนวอาคารจะเป็นมุมเอียงทำองศาโอบเข้าหาตัวบ้านเกิด court และมุมมองเชื่อมโยงกิจกรรมในส่วนต่างๆเมื่อมีผู้ใช้งาน โดยตัวเรือนเองจะแทรกเข้าไปในสวนซึ่งพยายามคงต้นไม้เดิมและต้นไม้ใหญ่ไว้
ด้านหน้าเรือนรับรองเป็นลานกว้างสำหรับทำกิจกรรมกับลูกๆและเป็นที่สังสรรกลางแจ้งยามเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียน หลังเรือนได้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่อย่างต้นหว้า
ภายในตัวเรือนรับรองแบ่งเป็น 2 ส่วน
– ส่วนนอนและ Living Area (Open Plan)
– ส่วนห้องน้ำแยกห้องใช้งานได้พร้อมกัน 2 คน
รูปแบบตัวเรือนเป็นลักษณะ Villa แนว Tropical ใช้วัสดุที่ดูเป็นธรรมชาติสำหรับเรือนในสวน อย่างเช่น ไม้ ปูน กระเบื้องดินเผา และหลังคาไม้ซีดาร์
ถ้าให้พูดโดยรวมสำหรับแนวคิดงานส่วนต่อเติมนี้ เป็นเหมือนการสร้างพื้นที่การใช้สอยตามวัตถุประสงค์หลักแต่สามารถยืดหยุ่นได้ในแง่การใช้งาน การแบ่งและเชื่อมพื้นที่ระหว่างใหม่-เก่า แต่ยังคงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันเมื่อมีคนมาใช้งาน
มุมมองภาพจากภายในเรือนออกสู่ภายนอก พร้อมกับสถาปนิกหนุ่มเดินสำรวจเรือนแบบชิวๆ
แปลนครับ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : คุณมาม่ากับปลากระป๋อง สมาชิก Pantip.com
แสดงความคิดเห็น