รีวิว ประสบการณ์การกู้ธนาคารซื้อที่ดิน พร้อมสร้างบ้าน 2 รายการพร้อมกัน ตั้งแต่ศูนย์จนถึงอยู่อาศัย

โพสโดย : pure | วันที่ : 12 May 2021
หมวดหมู่ : Read Me!

รีวิว ประสบการณ์การกู้ธนาคารซื้อที่ดิน พร้อมสร้างบ้าน 2 รายการพร้อมกัน ตั้งแต่ศูนย์จนถึงอยู่อาศัย

ใครที่กำลังมีแพลนที่จะสร้างบ้าน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี วันนี้เรามีรีวิวการสร้างบ้าน ตั้งแต่การเขียนแบบ ยื่นกู้ จนบ้านเสร็จพร้อมอยู่จากสมาชิกหมายเลข 6320407 Pantip.com มาฝากกันค่ะ บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งรีวิว ที่มีคุณภาพ อ่านแล้วเข้าใจง่าน และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง พร้อมแล้วไปชมกันเลยค่ะ




 

สวัสดีชาวพันทิปทุกท่าน เราก้าวเข้าสู่ปี 2021 กันมาได้ร่วม 5 เดือนแล้วนะคะ คิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่คลี่คลายขึ้น แต่สุดท้ายมันก็คลี่…เลยนะคะ  ยังไงก็แล้วแต่ขอเป็นกำลังใจให้กันและกันที่กำลังเผชิญปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันอยู่นี้ ให้พ้น ๆ ไปสักทีนะคะ

เนื่องจากโควิดระลองสามที่ผ่านมาได้มีโอกาสอยู่บ้านอย่างจริง ๆ จัง ๆ จึงมีดำริคิดได้ว่ากว่าเราจะผ่านการสร้างบ้านมาจนอยู่ได้ขนาดนี้เราก็ผ่านอะไรกันมาเยอะจริง ๆ ทั้งขั้นตอนการติดต่อธนาคาร ติดต่อซื้อที่ดิน ติดต่อขออนุญาตก่อสร้าง ติดต่อขอน้ำ ขอไฟ จนแล้วเสร็จ ก็เป็นระยะเวลาร่วม ๆ ปีเศษ

ทั้งที่ติดปัญหาโควิดระลอกแรกนั่นแหละ วันนี้จึงอยากมาแชร์ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาจนกว่าบ้านจะเสร็จค่ะ
ขอแบ่งเป็นพาร์ท ดังนี้

1. ก่อนเริ่มปลูกสร้างบ้าน ขอบอกว่าเป็นพาร์ทที่หินที่สุดเพราะทั้งติดต่อธนาคาร ติดต่อบริษัทขายที่ดิน ติดต่อสำนักงานเขต

2. ขณะปลูกสร้างบ้าน โชคดีที่ผู้รับเหมาคุยรู้เรื่อง ช่วงโควิดระลอกแรกก็ไม่ได้หยุดยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เราก็ยากตรงที่การเลือกซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับบ้านเรา เนื่องจากห้างร้านต่าง ๆ ปิดหมด วัสดุส่วนใหญ่ที่เราเลือกซื้อเองจึงต้องใช้การสั่งผ่านออนไลน์ และใช้งานมโนมโหรีของเราเองว่าสวยแหละ ดีแหละ เข้ากับบ้านเราแหละ

3. ปลูกสร้างบ้านแล้วเสร็จ ต้องมีการดีลจบงานต่อ เช่น การเบิกเงินกู้งวดสุดท้าย การขอบ้านเลขที่ การเปลี่ยนจากประปาและไฟฟ้าชั่วคราว เป็นประปาและไฟฟ้าถาวร เป็นต้น

เราจะพยายามรวบรวมข้อมูล เอกสารต่าง ๆ ที่เราได้รับมาให้ได้มากที่ สำหรับการปลูกสร้างบ้านหลังนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกท่านหากมีความสนใจในการสร้างบ้านบนที่ดินแต่ไม่มีเงินสดเป็นก้อนแบบถูกล็อตตารี่รางวัลที่ 1 มา แต่เรายังคงมีความต้องการในการสานฝันของเราจึงต้องอาศัยการกู้ธนาคารมาเติมเต็มในส่วนที่ขาด (ก็คือขาดเงินนั่นเอง)

ทั้งนี้ทั้งนั้นยังคงแนะนำให้ไปปรึกษาธนาคาร ปรึกษาสำนักงานเขต ณ พื้นที่ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านกันอีกทีนะคะ เพราะแต่ละที่จะมีความพิเศษใส่ไข่แตกต่างกันไปค่ะ

ขอแปะรูปบ้านตอนเสร็จแล้วก่อนหนึ่งกรุบค่ะ


1. ก่อนเริ่มปลูกสร้างบ้าน

เนื่องจากว่าหลังบ้านที่อยู่ มีที่เปล่ารกร้างมาเนิ่นนาน เดือนเมษายน 2019 ก็ได้มีการเริ่มติดต่อกับบริษัทที่เป็นเจ้าของที่ดินในการตกลงปลงใจซื้อที่เพื่อปลูกสร้างบ้าน ในพื้นที่ 65 ตรว. ซึ่งก็เป็นเงินมากโขเลยทีเดียว ยังไงก็ต้องกู้ กู้อย่างเดียวทั้งนั้นนน

แม้ว่าเราจะมีเงินมัดจำอยู่จำนวนหนึ่งแต่คิดเป็นแค่ 15% ของยอดทั้งหมดเท่านั้น… ถึงเวลาต้องพึ่งธนาคาร ก็ได้มีการสอบถามข้อมูลจากธนาคารต่าง ๆ ถึงความเป็นไปได้ในการกู้เพื่อซื้อที่ดินและปลูกสร้างบ้าน ซึ่งหลายธนาคารไม่รับ โดยส่วนมากมักจะเป็นการกู้ซื้อบ้านจัดสรร หรือการกู้เพื่อปลูกสร้างบ้านในที่ดินของตัวเอง

สุดท้ายเรามาจบที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) ทางธนาคารให้ข้อมูลเอกสารประกอบการกู้ (รูปที่ 2) ทางพนักงานก็จะมีการพูดคุยเบื้องต้นถึง อาชีพ อายุ เงินเดือน เพื่อนำไปคำนวณยอดที่สามารถกู้ได้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องเตรียมต่าง ๆ

นอกจากเอกสารข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่เราต้องเตรียม ก็จะมีเอกสารหลักประกัน อันประกอบไปด้วย

  • สำเนาโฉนดที่ดิน

  • สำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย/ใบเสร็จเงินดาวน์


  • แบบแปลน, ใบอนุญาตปลูกสร้าง (ไฮไลท์แดง ขีดเส้นใต้ ใส่ดอกจันทร์สามล้านดวง), ใบประมาณการก่อสร้าง (BOQ) และสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง

ในส่วนของเอกสาร สำเนาโฉนดที่ดิน และสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เราสามารถทำกับบริษัทเจ้าของที่ดินได้เลย แต่ทั้งนี้คนเซ็นต์หากเป็นบริษัทในนามนิติบุคล ต้องให้ประธานกรรมการบริษัทเป็นคนเซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง

พร้อมแนบหลักฐานการดำเนินกิจการของบริษัทด้วย (เอกสารตรงนี้ควรดีลกับบริษัทหรือตัวแทนให้ดี เพราะด้วยความมือใหม่ของเราเอกสารผิดหลายรอบทำให้ต้องวิ่งหลายรอบมากกก ยังไม่รู้ตัวว่านี่แค่เริ่มต้นค่ะซิส)

ในส่วนของเอกสาร แบบแปลน BOQ และสัญญาว่าจ้าง เราก็ได้มีการจัดหาบริษัทรับสร้างบ้าน ที่รู้สึกถูกจริตเองอ่ะน่ะ แต่ทั้งนี้เค้าต้องทำแบบแปลนให้เรา พร้อมมีวิศวกรและสถาปนิกเซ็นต์แบบให้เราด้วย BOQ ก็ขอให้มาพร้อมกันเลยจ่ะแม่ เมื่อเอกสารพวกนี้มา เราก็มา ๆ มาทำงานสัญญาว่าจ้างก่อสร้างกัน (ราคาปิติ มานะ มานี ปราณีกับหนูหน่อยนะแม่)

ในส่วนของที่เรา ไฮไลท์แดง ขีดเส้นใต้ ใส่ดอกจันทร์สามล้านดวงไว้ นั่นก็คือ…ใบอนุญาตปลูกสร้าง เราเอาได้จากไหน…จากสำนักงานเขต ที่พื้นที่ที่ต้องการปลูกบ้านจ่ะ ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ นะคะ

ถ้าตามต่างจังหวัด เราต้องไปขอที่หน่วยงานอาคารตาม อบต เทศบาล หรือ อำเภอ โอ้โห้อ่ะแม่ เชื่อหรือไม่ว่าขั้นตอนนี้กินเวลาไปมากกว่า 4 เดือน ทำให้เราเริ่มปลูกบ้านได้จริง ๆ ล่วงเข้าเดือนพฤษจิกายน 2019 เลยทีเดียว

เอกสารในการขอใบอนุญาตปลูกสร้างบ้านในเขต กทม ตามรูปนะคะ แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดหรือต่างพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไป

(ที่มา http://www.bangkok.go.th/upload/user/00000058/Service/Yota/0452007.pdf )

เมื่อเราได้เอกสารต่าง ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ ในขณะที่ทางเจ้าของที่ดินก็เร่งเร้าเรายิก ๆ จะเอาเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือเพราะล่วงเลยเวลาครบกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายมาได้ 1 เดือนแล้ว

(จริง ๆ ก็ต้องขอบคุณทางเจ้าของที่ดินที่ให้เรายืดเวลาออกมาได้ขนาดนี้ เพราะใบขออนุญาตปลูกสร้าง ใบเดียวนี่แหละ เกือบจะถอดใจทิ้งเงินดาวน์ไปเลยทีเดียว)

เราก็ต้องยื่นเอกสารทั้งหมดตามรูปด้านบนให้กับธนาคารเพื่อนำไปประเมินยอดกู้ที่ทางธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้ ซึ่งในยอดเงินทั้งหมดของการกู้เพื่อซื้อที่ดินสำหรับการปลูกสร้างบ้านแบบนี้ต้องแบ่งยอดกู้ออกเป็น 2 ส่วน

ประกอบด้วย

1. ราคาประเมินที่ดิน ซึ่งธนาคารให้เราแค่ 70% ของราคาประเมินที่ดิน (ได้ในงวดแรกทีเดียว)

2. ราคาประเมินการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นสวัสดิการของทางบริษัทที่ทำงานอยู่จึงได้ในส่วนนี้สูงหน่อย คือ 95% ของราคาประเมินการก่อสร้าง (ได้เป็นงวดงานซึ่งจะมีการแบ่งตามการก่อสร้าง จะแนบการแบ่งคร่าว ๆ ให้ดูต่อไป)

ทางธนาคารจะให้เงินงวดแรกเราคือ เงินในส่วนของราคาที่ดิน ดังนั้นเรามีความจำเป็นต้องมีเงินสำรองในการก่อสร้างก่อนบางส่วน เพื่อใช้ในการก่อสร้างเนื่องจากธนาคารจะมีการประเมินและออกเงินกู้ตามงวดงานก่อสร้างที่แล้วเสร็จ การแบ่งเปอร์เซ็นต์ของการก่อสร้าง ดังต่อไปนี้

จากรูปจะเห็นได้ว่ามีการเรียงตามลำดับงาน แต่ของเราไม่ได้ทำตามลำดับที่ให้มา โดยปรึกษากับทางบริษัทรับสร้างบ้าน ว่าถ้าเราสามารถเบิกงวดงานไหนก่อนได้ รบกวนเฮียจัดให้หนูหน่อยนะคะ วิน-วินทุกฝ่ายนะ เฮียได้เงิน หนูได้บ้าน

ธนาคารได้ดอกเบี้ยเงินกู้ ในการประเมินงวดงานจะมีคนประเมินมาตรวจที่ก่อสร้าง โดยจะมีค่าใช้จ่ายต่างหากให้กับทางบริษัท นั่นแปลว่า ถ้าเราเรียกเค้ามาประเมินถี่ เราก็จะเสียส่วนนี้มากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนกับบริษัทรับสร้างบ้านให้ดีว่า เงินหนูไม่ขาดมือ เฮียก็ได้เงินไม่ขาดตอนเช่นกัน ดังนั้นอยากบอกว่า เลือกดี ๆ จำเป็นจริง ๆ กับการเลือกช่างที่จะก่อสร้างบ้านให้เนี่ย

ย้อนกลับมาในส่วนของการทำสัญญากู้กับธนาคาร ก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ค่าธรรมเนียมจำนองของสำนักงานที่ดิน (1% ของวงเงินจำนอง) ปัจจุบันจะมีการหักเงินส่วนหนึ่งจากยอดเงินกู้ เพื่อทำประกันอัคคีภัยบ้านและประกันชีวิตอีกด้วย

ในการก่อสร้างทางธนาคารจะให้ระยะเวลาการก่อสร้างทั้งหมด 180 วัน โดยการกู้แบบนี้นั้น อัตราดอกเบี้ยในช่วงการก่อสร้างจะสูงกว่าปกติ 0.5% และเมื่อการงานก่อสร้างงวดสุดท้าย พร้อมได้รับทะเบียนบ้าน ประปาและไฟฟ้าเป็นถาวร อัตราดอกเบี้ยก็จะปรับลดลงเป็นปกติ ทั้งนี้ระยะเวลาการก่อสร้างก็สามารถขยายได้โดยทำเรื่องขอขยายจากธนาคารเมื่อครบกำหนดตามสัญญา

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าก่อนการก่อสร้างบ้านต้องมีแบบการก่อสร้างต่าง ๆ แล้ว ดังนั้นต้องมีการคุยแบบกับผู้รับเหมาก่อสร้างกันไปหลายต่อหลายยก ได้มี reference และแบบ 3D ที่ทางผู้รับเหมาทำมาค่ะ นอกเหนือจากแปลนการก่อสร้าง และ BOQ ค่ะ

รูป Reference บ้านค่ะ เจอใน Pinterest

แบบ 3D ที่ทางผู้รับเหมาทำมาให้ดูค่ะ สุดท้ายบ้านจะไม่เหมือนแบบนี้เป๊ะ ๆ เพราะได้มีการปรับเปลี่ยนระหว่างทาง แต่ยังไงต้องคงเดิมให้มากที่สุด เพราะธนาคารไม่ปล่อยงวดง่ายเลยค่ะ ถ้าไม่ต้องตามแบบ

2. ขณะปลูกสร้างบ้าน

ต้นเดือนพฤษจิกายน ก็ได้ฤกษ์ในการเริ่มก่อสร้างบ้าน โดยมีการถมที่ดิน ปรับหน้าดิน ลงเสาเอก ขอแนบรูปขั้นตอนการเริ่มการก่อสร้าง

เมื่อช่างก่อสร้างได้เริ่มเข้าทำงานแล้วนั้นนนนนน น้ำประปา และไฟฟ้า ก็สำคัญมาก ไม่งั้นช่างไปต่อไม่ได้แน่ ๆ เราจึงต้องเตรียมเอกสารเพื่อขอใช้น้ำประปาชั่วคราว และขอใช้ไฟฟ้าชั่วคราวด้วย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราได้มีการมอบอำนาจให้ทางบริษัทรับสร้างบ้านติดต่อให้ในส่วนนี้ ง่ายที่สุดแล้วขั้นนี้เนี่ย ซึ่งเอกสารที่เราเตรียมให้เค้ามีดังนี้

การขอใช้น้ำประปาชั่วคราว (มีการเสียค่ามัดจำมิเตอร์ ประมาณ 5,000-10,000 บาท จำราคาแน่นอนไม่ได้ แต่จะได้เงินส่วนนี้คืนเมื่อไปเปลี่ยนเป็นการใช้น้ำประปาถาวร)

1. สำเนาบัตรประชาชน / ข้าราชการ / พนักงานองค์กรของรัฐ

2. สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์การครอบครองอาคาร (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
– ทะเบียนบ้าน (ที่ขอติดตั้งประปา)
– หนังสือสัญญาซื้อขายอาคาร
– หนังสือสัญญาเช่าซื้อ
– หนังสือสัญญาเช่าอาคาร
– ทะเบียนบ้านชั่วคราว
– หนังสืออนุญาตปลูกสร้างอาคาร
– โฉนดที่ดิน และหนังสือยินยอมจากเจ้าของ

3. หนังสือมอบอำนาจ (ฉบับจริง) (ติดแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร บัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7.) และสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (กรณีที่ไม่สามารถมาติดต่อได้ด้วยตนเอง)

ที่มา: https://web.mwa.co.th/ewt_news.php?nid=1606


การขอใช้ไฟฟ้าชั่วคราว (มีค่ามัดจำมิเตอร์ ประมาณ 10,000 บาท) ต้องมีการกรอกแบบฟอร์มของกฟน. และมีหลักฐานดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง (ถ้ายังไม่ได้ให้ถ่ายใบคำขอมาแทน)
4. โฉนดที่ดินสถานที่ขอใช้ไฟฟ้า
5. สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ

ต่อไปนี้ขออนุญาตแนบรูปรัว ๆ

พอถึงระยะเวลาที่ต้องมีการเลือกกระเบื้องตั่งต่าง ทั้งในตัวบ้าน ทั้งในห้องน้ำ และสุขภัณฑ์ กลางเดือนมีนาคมก็ได้มีประกาศล็อคดาวน์ ปิดห้างทั่วกรุงเทพฯ จำได้ว่าพอเค้าประกาศว่าพรุ่งนี้จะมีการปิดปุ๊ป คือพุ่งตัวไปบุญถาวรก่อนเพื่อไปเลือกกระเบื้องปูพื้นก่อนเลย เดชะบุญตรงที่ห้องน้ำได้มีการคุยแบบไว้แล้ว และสั่งกระเบื้องเรียบร้อย

แต่ไม่ใช่ว่าจะโชคดีอะไรขนาดนั้น เพราะว่าสุขภัณฑ์ในห้องน้ำส่วนใหญ่เราต้องเลือกทางออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อ่างล้างหน้า ชักโครก ท่อน้ำทิ้ง สต็อปวาล์ว ฝักบัว สายฉีดชำระ

เนื่องจากในส่วนนี้เราคุยกับบริษัทรับสร้างบ้านตั้งแต่แรกว่า ห้องน้ำเราขอเลือกซื้อเองทั้งหมดค่ะ กลัวไม่ถูกใจ เป็นไงล่ะ ดูชักโครกทิพย์ สั่งผ่านออนไลน์เลยจ่ะ

ต่อมาก็ระบบไฟฟ้า วางแบบเองว่าจุดนี้มีอะไรบ้าง ปลั๊กไฟเป็นแบบไหน สวิซไฟเป็นไง หลอดไฟ โคมไฟต่าง ๆ ก็เหมือนจะเลือกแบบทิพย์ ผ่านออนไลน์อีกเช่นกัน สั่งของแบบไม่ได้เห็นของ ได้แต่เดาขนาด เดาผิวสัมผัส เพื่อให้ช่างทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ดีกว่าว่างเปล่าแอ้งแม้ง


การทาสี

เนื่องจากความใจร้อนอยากเร่งงาน ขอไม่เอาช่างของทางบริษัท มาทาสี อยากเสร็จอ่ะแม่ๆ เลยไปได้ช่างแถวบ้านที่รู้จักมานาน ประกอบกับช่วงโควิด เห็นใจว่าเค้าไม่น่าจะได้มีงานทำช่วงนี้ เลยให้มาทาสีที่บ้านไหน ๆ ก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แถมไม่ต้องรอช่างของทางบริษัทอีก

ผลคือ ปังมากแม่ ปังพินาศ ช่างก็คือมาเช้า 2 วันแรก วันที่ 3 สาย วันที่ 4 บ่าย วันที่ 5 หยุด มาอีกทีเมา แล้วบ้านอย่างสูง กลัวแกจะตกลงมาเป็นอะไรไปอีก กินเวลาไปร่วมเดือน สุดท้ายสีเละ ผนังตะปุ่มตะป่ำ โอ่ยยย ต้องพักก่อนลุง บอกบริษัทรับสร้างบ้านว่า เฮียคะ ขอหนูรอช่างเฮียก็ได้ แก้ให้หน่อยนะคะ

ท้ายที่สุดก็ได้มาประมาณนี้ ตอนนี้คือได้ทำกันสาดหน้าบ้านเพิ่มแล้วนะคะ เพราะแดดคือแผดเผามาก เพราะบ้านหันหน้าทางทิศตะวันออกพอดีค่ะ

เนื่องจากว่าการขอสินเชื่อธนาคารนั้น การคำนวนเงินงวดสุดท้ายนั้นจะนับแค่เฉพาะตัวบ้านเท่านั้น ไม่รวมค่าตกแต่งต่าง ๆ รั้วบ้าน หรือการตกแต่งสวน

ดังนั้นเราจึงสามารถเบิกเงินงวดสุดท้ายจากธนาคารได้แล้วว แต่ก็มีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคารในการปล่อยเงินงวดสุดท้ายอยู่เช่นกัน


3. การก่อสร้างตัวบ้านที่แล้วเสร็จ

เงินงวดสุดท้าย นอกจากต้องเรียก คนของบริษัทประเมิน มาประเมินส่งมอบงานให้ได้ครบตามที่เรายื่นไว้ตั้งแต่แรก ของเรามีปัญหาเล็กน้อย จากที่ได้บอกไปตั้งแรกว่าเรามีการปรับเปลี่ยนแบบบ้านเล็กน้อย และเนื่องจากการปรับเปลี่ยนแบบระหว่างการก่อสร้างนั้น ก็ต้องคุยกันในส่วนนี้ต่อไปว่าจะกระทบกับยอดกู้ที่ได้มีการประเมินไปตั้งแต่แรกหรือไม่

เกร็ดเล็กน้อยที่ได้ระหว่างการก่อสร้างนี้คือ กระเบื้องจะไม่ได้ถูกนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ของงานก่อสร้าง แปลว่า แค่คุณมีพื้นปูนขัดมันก็พอแล้วค่ะ กระเบื้องตารางเมตรละ 1,000 บาท เค้าก็ไม่นับเป็นเปอร์เซ็นต์ของการก่อสร้างค่ะ จึงเป็นที่มาของห้องครัวพื้นปูนขัดมันอ่ะค่ะ

นอกจากนี้ต้องมีเอกสารทะเบียนบ้านและเลขที่บ้านเรียบร้อยแล้วนะคะ สำหรับการเบิกเงินกู้งวดสุดท้าย การขอทะเบียนบ้านและเลขที่บ้านจากสำนักงานเขต (ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่น่ารักมากนะคะ) ในการขอทะเบียนบ้านและเลขที่ประจำบ้าน ตามกฎหมายต้องแจ้งต่อสำนักงานเขตภายในเวลา 15 วันนับตั้งแต่บ้านแล้วเสร็จ


ส่วนเอกสารที่ต้องเตรียม คือ

  • สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์
  • สำเนาโฉนดที่ดิน
  • หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่ได้มาด้วยตัวเอง) พร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
  • รูปถ่ายทั้ง 4 ด้านของบ้านที่ปลูกสร้าง

ทางเขตจะให้เรากรอกเอกสารตามฟอร์มของทางเขต จากนั้นก็รอให้ทางเขตมาตรวจสอบบ้านที่ปลูกสร้างว่าแล้วเสร็จจริง จึงทำการออกทะเบียนบ้านและเลขที่ประจำบ้าน แล้วก็โทรตามให้เข้าไปรับเอกสารต่อไป

ถัดมาคือการขอเปลี่ยนจากการใช้น้ำประปาชั่วคราวเป็นน้ำประปาถาวร

เอกสารจะคล้ายคลึงกับตอนที่ไปใช้น้ำประปาชั่วคราว คือมี

  • สำเนาบัตรประชาชน

  • สำเนาทะเบียนบ้าน


  • สำเนาเลขประจำตัวบ้าน

  • หนังสือมอบอำนาจพร้อมบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ พร้อมกรอกแบบฟอร์มการขอใช้น้ำประชาใหม่ แต่เนื่องจากว่าต้องมีการขอคืนเงินมัดจำของประปาชั่วคราว เราต้องมีเอกสารเพิ่มเติมคือ

  • ใบเสร็จรับเงินจากการที่ได้จากตอนขอประปาชั่วคราว


  • ใบแจ้งหนี้ค่าน้ำงวดใดก็ได้


  • หน้าบัญชีธนาคารใดก็ได้เพื่อทาง กปน จะได้โอนค่ามัดจำคืน แนะนำให้ใช้สาขาในกรุงเทพจะได้ไม่เสียค่าบริการ (เท่าที่จำได้น่าจะประมาณนี้) เมื่อเรายื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อยก็เสร็จ เค้าก็จะมาเปลี่ยนมิเตอร์ให้ และโอนเงินมัดจำคืนผ่านบัญชีธนาคารที่ให้ไว้


ถัดมาคือการขอเปลี่ยนจากการใช้ไฟฟ้าชั่วคราวเป็นไฟฟ้าถาวร

  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า และสำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน


  • สัญญาซื้อขาย (กรณีซื้อขายบ้าน), สัญญาเช่า (กรณีเช่าบ้าน)


  • หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีเจ้าของบ้านไม่มาดำเนินการ)


  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ


  • สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ให้เช่า


  • ใบยินยอมผ่านที่หรือใบยินยอมในกรณีต่างๆ (กรณีผ่านที่ดินผู้อื่น), สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านขอผู้ยินยอม


  • ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)

หลังจากยื่นคำร้องและเอกสารครบถ้วนแล้ว ทาง กฟน จะมีการนัดเข้ามาตรวจสภาพสายไฟ การเดินสายไฟในอาคารถูกต้องเรียบร้อยดี

หากไม่เรียบร้อยก็จะมีการแจ้งให้แก้ไข และนัดเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจอีกครั้ง เมื่อเรียบร้อยดีแล้ว ก็จะมีการทำเรื่องขอคืนเงินประกันมิเตอร์ต่อไป

สุดท้ายคือบ้านครบทุกอย่าง มีหน้าต่าง ประตู มีน้ำ มีไฟ แล้วค่ะ

สิริรวมตั้งแต่ลงเสาเข็มจนถึงเข้าอยู่ได้ ระยะเวลา 10 เดือน ก็ถือว่าไม่ช้าในภาวะโควิดแบบนี้แหละเนาะ

เกือบลืมบอกขนาดบ้าน เป็นบ้าน 2 ชั้นครึ่ง เนื่องจากมีชั้นลอยด้วย มี 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ 1 ห้องนั่งเล่น 1 ห้องครัว 1 ลานชั้น 2 และ 3 แม้ว่าจะมีกี่ชั้น สุดท้ายคือมาจุ่มปุ๊ก อยู่ที่ชั้น 1 ชั้นเดียวกันเท่านั้นก็เรามันคนชั้นล่างอ่ะแม่

การตกแต่งต่าง ๆ นอกเหนือจากการสร้างบ้าน ต้องยอมรับตรงนี้ว่า ทางเรายังไม่ได้มีการจัดงบประมาณไว้อย่างหรูหราอะไรขนาดนั้น ว่าง่าย ๆ คือ งบหมด บ้านเลยเป็นมินิมอลสไตล์

ห้องนั่งเล่นหลัก

ชั้น 2

ชั้น 2 ครึ่ง

นอกจากตัวบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เรายังต้องกันงบประมาณในส่วนของการทำรั้วรอบบ้าน เทพื้นปูนรอบบ้าน โรงรถ ปูกระเบื้องหน้าบ้าน ทำบ่อปลาคราฟที่สุดแสนจะทุ่มเท และจัดสวนอีก ซึ่ง ๆ ๆ ๆ ในส่วนนี้ทั้งหมดเรียกได้ว่าไม่รวมอยู่ในเงินกู้ธนาคาร เลยเป็นที่มาของภายในบ้านแบบมินิมอลนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ดีการจัดสวนของบ้านเราต้องการให้เข้าตัวบ้านมากที่สุด เราจึงเลือกการจัดสวนสไตล์อังกฤษปนโมเดิร์น เราได้ทีมงานออกแบบสวนที่น่ารักมาก คือ น้อง ๆ นักศึกษา และอาจารย์ ที่ให้โอกาสออกแบบสวนของบ้านหลังนี้เป็นโปรเจ็กจบของน้อง เราจ่ายค่าออกแบบและค่าจัดสวนเองนะ แต่คิดว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลค่อนไปไม่แพงเลยแหละ

ดังนั้นจึงขอฝากรูปสวนที่ออกแบบโดยน้อง ๆ นักศึกษาและอาจารย์ไว้ด้วยนะคะ เผื่อมีคนสนใจจะสนับสนุนน้อง ๆ ต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนจบถึงตรงนี้ หากมีข้อมูลตกหล่น ผิดพลาด ไม่เหมือนกับท่านอื่นประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ทั้งนี้แนะนำให้มีการปรึกษากับทางธนาคาร และทางสำนักงานเขตอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่สุด ขอให้ทุกคนมีความสุขกับบ้านที่หวังว่า (งบตกแต่ง) จะไม่บานไปมากกว่านี้


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : สมาชิกหมายเลข 6320407 Pantip.com


อ่านเรื่องที่เดี่ยวข้อง

รวม 15 ไอเดีย “รีโนเวทบ้าน” เปลี่ยนบ้านเก่าสุดโทรม เป็นบ้านใหม่ สวยน่าอยู่ งบไม่บานปลาย

รวม 15 ไอเดีย “รีโนเวททาวน์โฮม-ตึกแถว” จากบ้านเก่า ๆ โทรม ๆ ให้กลับมาสวย สะอาด ฟังก์ชันตอบโจทย์ เหมือนได้บ้านหลังใหม่

รีวิว สาวออฟฟิศวัย 25 กู้เงิน (คนเดียว) จนสร้างบ้านให้พ่อได้สำเร็จ ในงบ 1.7xx ล้านบาท

รีวิว ประสบการณ์การสร้างบ้าน เริ่มตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมเข้าอยู่ แบบละเอียดยิบ

รีวิว ปลูกบ้านหลังแรก คุมงานเองทั้งหมด งบก่อสร้าง พร้อมตกแต่ง รวม 2.7 ล้านบาท

แชร์ประสบการณ์ การทำงานกับสถาปนิกและผู้รับเหมา สร้างบ้านหลังแรกยังไง ให้ไม่ปวดหัว !


สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม  086-1290293 
LINE ID : 123456786205
Email : wanchalearm.t@gmail.com
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ

UPDATE REVIEW!

EP.2503 รีวิว Supalai Primo อนุสาวรีย์ฯ ภูเก็ต ทาวน์โฮมและบ้านแฝดดีไซน์ใหม่ วัสดุประหยัดพลังงาน บนทำเลศักยภาพ ถนนเทพกระษัตรี

โพสเมื่อ : 15 November 2024 | No Comments

EP.2503 รีวิว ศุภาลัย พรีโม่ อนุสาวรีย์ฯ ภูเก็ต / Supalai Primo Thep Kasatri & Sri Sunthon Heroines Monument Phuket ทาวน์โฮมและบ้านแฝดดีไซน์ใหม่ วัสดุประหยัดพลังงาน บนทำเลศักยภาพ ถนนเทพกระษัตรี ใกล้ Robinson ถลาง เพียง 1.2 กม.* เริ่ม 3.39 ล้านบาท*

EP.2502 รีวิว บ้านลลิล รังสิต-คลอง 2 บ้านหรู 5 ห้องนอน ดีไซน์ฝรั่งเศส ใกล้

โพสเมื่อ : 15 November 2024 | No Comments

EP.2502 รีวิว บ้านลลิล รังสิต-คลอง 2 Baan Lalin Rangsit-Klong 2 บ้านหรู 5 ห้องนอน ดีไซน์ฝรั่งเศส ใกล้ Future Park ทางด่วน และรถไฟฟ้า 2 สาย เริ่ม 3.89-7 ล้านบาท* Written by : Nan Kanyaratthp สวัสดีเพื่อน ๆ

EP.2501 รีวิว Siamese Blossom พหลฯ-วิภาวดี บ้านแฝดและทาวน์โฮมอิสระ สไตล์ Modern Tropical ทำเลดี

โพสเมื่อ : 12 November 2024 | No Comments

EP.2501 รีวิว ไซมิส บลอสซั่ม พหลฯ-วิภาวดี / Siamese Blossom Phahol-Vibhavadi บ้านแฝดและทาวน์โฮมอิสระ สไตล์ Modern Tropical ทำเลดี ติดถนนพหลโยธิน ใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดง และ Future Park รังสิต เริ่ม 2.99 ล้าน* Written by : Pure Thitapa สวัสดีค่ะ เพื่อน

EP.2500 รีวิว Supalai Pride วงแหวน-พระราม 2 บ้าน New Series ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

โพสเมื่อ : 8 November 2024 | No Comments

EP.2500 รีวิว ศุภาลัย ไพร์ด วงแหวน-พระราม 2 / Supalai Pride Wongwaen-Rama 2 บ้านเดี่ยว, บ้านแฝด และทาวน์โฮมซีรีส์ใหม่สไตล์ Tropical Modern ทำเลดี ใกล้ถนนพระราม 2 และทางด่วนใหม่ เริ่ม 2.29-6 ล้านบาท* Written by : Pure Thitapa สวัสดีค่า คุณผู้อ่านทุกคน

EP.2499 รีวิว Nara Botanic ราชพฤกษ์-345 บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Modern Luxury ใจกลางธรรมชาติ

โพสเมื่อ : 6 November 2024 | No Comments

EP.2499 รีวิว นารา โบทานิค ราชพฤกษ์-345 Nara Botanic Ratchaphruek-345 บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Modern Luxury ใจกลางธรรมชาติ วิวทะเลสาบ ติดถนนใหญ่ราชพฤกษ์ ราคาเริ่ม 6.9 ล้านบาท* Written by : Nin Yanin สวัสดีค่า วันนี้ทีมงาน Homenayoo พามาชมโครงการ Nara Botanic ราชพฤกษ์-345 จาก Narai Property ที่ตั้งโครงการอยู่บนทำเลศักยภาพ ติดถนนราชพฤกษ์

EP.2498 รีวิว เศรษฐสิริ งามวงศ์วาน บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Georgian ใกล้ทางด่วน เพียง 2

โพสเมื่อ : 5 November 2024 | No Comments

EP.2498 รีวิว เศรษฐสิริ งามวงศ์วาน Setthasiri Ngamwongwan บ้านเดี่ยวหรู สไตล์ Georgian ใกล้ทางด่วน เพียง 2 นาที* และ The Mall งามวงศ์วาน เริ่มต้น 18-40 ล้านบาท* Written by : Nin Yanin สวัสดีค่ะ วันนี้ทีมงาน Homenayoo พาคุณผู้อ่านมาชมโครงการ เศรษฐสิริ งามวงศ์วาน บ้านเดี่ยวหรู

EP.2497 รีวิว Supalai Grand Essence อรุณอมรินทร์ บ้านหรูกลางเมือง 3.5 ชั้น พร้อม

โพสเมื่อ : 4 November 2024 | No Comments

EP.2497 รีวิว ศุภาลัย แกรนด์ เอสเซ้นส์ อรุณอมรินทร์ Supalai Grand Essence Arun-Amarin บ้านหรูกลางเมือง 3.5 ชั้น พร้อม Double Space เอกสิทธิ์เพียง 36 ครอบครัว ใกล้ ICONSIAM ทางด่วน และรถไฟฟ้า 3 สาย เริ่ม 22.9-40 ล้านบาท* Written by

EP.2496 รีวิว The Grand ปิ่นเกล้า-วงแหวนกาญจนา บ้านเดี่ยวหรูสไตล์ Modern European พร้อม Pool

โพสเมื่อ : 1 November 2024 | No Comments

EP.2496 รีวิว เดอะ แกรนด์ ปิ่นเกล้า-วงแหวนกาญจนา The Grand Pinklao-Wongwaen Kanchana บ้านเดี่ยวหรูสไตล์ Modern European พร้อม Pool Villa สระว่ายน้ำส่วนตัวทุกหลัง เพียง 39 ครอบครัวเท่านั้น ทำเลดีติดถนนใหญ่ ใกล้ทางด่วน และรถไฟฟ้า MRT ราคาเริ่มต้น 30-70 ล้าน* Written by : Nan

EP.2495 รีวิว Baranee Bliss รังสิต-วงแหวน บ้านเดี่ยวสไตล์ Modern British Luxury ทำเลศักยภาพ

โพสเมื่อ : 30 October 2024 | No Comments

EP.2495 รีวิว บารานี บลิซ รังสิต-วงแหวน / Baranee Bliss Rangsit-Wongwaen บ้านเดี่ยวสไตล์ Modern British Luxury ทำเลศักยภาพ ติด ถ.รังสิต-นครนายก ใกล้วงแหวนกาญจนาภิเษก เอกสิทธิ์เพียง 87 ครอบครัว เริ่ม 8-17 ล้านบาท* Written by : Pure Thitapa สวัสดีคุณผู้อ่านทุกคนค่ะ วันนี้

EP.2494 รีวิว Supalai Park Ville กาญจนาภิเษก-ซ.กันตนา บ้านเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์

โพสเมื่อ : 30 October 2024 | No Comments

EP.2494 รีวิว ศุภาลัย พาร์ควิลล์ กาญจนาภิเษก-ซ.กันตนา Supalai Park Ville Kanchanapisek-Soi Kantana บ้านเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์ Tropical ใกล้ Central Westgate เริ่ม 5.69 ล้านบาท* Written by : Nin Yanin สวัสดีค่า วันนี้ทีมงาน Homenayoo พาคุณผู้อ่านมาชมโครงการ Supalai Park

แสดงความคิดเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.