7 วิธีจัดการกับระบบน้ำและไฟ หลังบ้านน้ำท่วม
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และคงหนีไม่พ้น เหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายให้เจ้าของบ้านเป็นอย่างมาก แต่หากใครเพิ่งเคยเจอกับน้ำท่วมเป็นครั้งแรกและเตรียมตัวรับมือปกป้องบ้านไม่ทัน ก็อาจจะต้องปวดหัวกับปัญหาที่จะตามมาหลังน้ำลดอีกไม่น้อย เพราะต้อง ซ่อมบ้าน รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้กลับมาอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะระบบน้ำ ระบบไฟ ที่เช็คพลาดอาจอันตรายถึงชีวิต
หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม สิ่งที่เราต้องทำมีดังนี้
1. สำรวจด้วยความระมัดระวัง
สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกเพื่อให้ทราบรายละเอียดว่าบ้านได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ต้อง ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม ตรงจุดไหนบ้าง คือ การสำรวจบ้านอย่างละเอียดเสียก่อน โดยขั้นตอนการสำรวจบ้านหลังน้ำลดให้พึงระลึกไว้เสมอว่าอาจมีพวกสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยหรือหลบอยู่ภายในบ้าน
นอกจากนี้ยังแนะนำให้แต่งกายมิดชิด สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่ช่วยปกป้องขาและเท้าได้ ในกรณีที่พบสัตว์อันตรายก็ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาช่วยจัดการ เพื่อเคลียร์ทั้งบ้านให้พร้อมก่อนซ่อมบ้าน
2. สำรวจความเสียหายของรั้วบ้าน
โดยการสำรวจรั้วในเบื้องต้นให้ลองสังเกตดูว่ามีรอยร้าวหรือไม่ มีการทรุดตัวหรือเอียงไหม หากพบว่ามีการชำรุด ทรุด เอียง ก็ควรหาไม้หรือเหล็กที่สามารถรับน้ำหนักรั้วได้มาทำการค้ำยันไว้ชั่วคราว แล้วติดต่อให้ช่างมาทำการซ่อมแซมให้
หากเสาและคานปูนยังอยู่ในสภาพดีก็สามารถทุบรื้ออิฐบล็อกส่วนที่เสียหายออกเพื่อก่อใหม่ได้ แต่หากเกิดความเสียหายหลายจุดอาจต้องพิจารณาการก่อใหม่ด้วยวัสดุที่เบากว่า เพื่อช่วยให้โครงสร้างรั้วไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกินไป เช่น การก่อด้วยอิฐมวลเบา หรือการเปลี่ยนรั้วอิญเป็นรั้วไม้ เป็นต้น
แต่กรณีที่รั้วมีการทรุด หรือเอียง ต้องรื้อถอนออกและทำใหม่เท่านั้น หรือหากพื้นดินบริเวณใต้แนวกำแพงรั้วเป็นโพรงจากการถูกกระแสน้ำซัดทำลาย แนะนำให้รีบทำแนวอิฐบล็อกแล้วอัดดินเสริมให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ดินไหลออกไปจนสร้างความเสียหายต่อฐานรากของรั้วได้
3. ทดสอบระบบไฟฟ้า
สิ่งแรกที่ทุกบ้านทำคงจะเป็นการปิดคัทเอ้าท์ไฟ หรือปิดวงจรไฟฟ้าทั้งระบบไม่ให้ไม่กระแสไฟฟ้าอยู่เลย ดังนั้น หลังจากน้ำลดจนทุกอย่างแห้งสนิทดีแล้ว แนะนำให้ลองทดสอบระบบไฟฟ้าว่ายังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่
โดยการเปิดคัทเอ้าท์ไฟเพื่อให้กระแสไฟเข้ามาในระบบ ซึ่งหากมีปลั๊กไฟจุดใดจุดหนึ่งที่ยังมีความชื้นอยู่ เมื่อทำการเปิดคัทเอ้าท์ไฟแล้ว คัทเอ้าท์จะตัดไฟและทำให้ฟิวส์ขาด กรณีนี้ให้เปลี่ยนฟิวส์ใหม่ทิ้งไว้อย่างน้อยหนึ่งวันให้ความชื้นระเหยออกไปให้หมดก่อนจะทดสอบใหม่อีกครั้ง หากยังเป็นเหมือนเดิมแนะนำให้ติดต่อช่างไฟหรือผู้เชี่ยวชาญให้มาตรวจสอบและแก้ไขให้เพื่อความปลอดภัย
4. ปรับเปลี่ยนระบบไฟเพื่อป้องกันปัญหาหากเกิดน้ำท่วมซ้ำ
ในกรณีที่ประเมินดูแล้วว่าทำเลบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำ ๆ แนะนำให้ถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าภายในบ้านเพื่อช่วยป้องกันปัญหาในอนาคต โดยแนะนำให้ตัดปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟบริเวณชั้นล่างของบ้านที่อยู่ต่ำ ๆ ออกให้หมด และปรับตำแหน่งใหม่ให้สูงจากพื้นประมาณ 1.10 ม.
จากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็นวงจรหลัก ๆ คือ วงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นล่างที่น้ำอาจท่วมถึง วงจรไฟฟ้าสำหรับชั้นบนที่น้ำท่วมไม่ถึง และวงจรไฟฟ้าที่ควบคุมเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมระบบไฟฟ้าได้อย่างอิสระ และสะดวกต่อการบำรุงรักษาและซ่อมแซมด้วย
5. ตรวจสอบแท้งค์น้ำภายในบ้าน
ระบบน้ำ เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับการ ซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม เพราะถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น ทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายของผู้ใช้น้ำ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นแท้งค์น้ำบนดิน หรือแท้งค์น้ำใต้ดิน ก็ล้วนต้องตรวจสอบดูว่ามีการชำรุดเสียหายจนทำให้น้ำสกปรกและสิ่งสกปรกไหลเข้ามาปะปนกับน้ำในแท้งค์น้ำหรือไม่
สำหรับแท้งค์น้ำบนดิน โดยเฉพาะแท้งค์น้ำที่ผลิตจากสเตนเลส เมื่อเกิดน้ำท่วมขังยาวนานหลายเดือนก็มักจะมีปัญหาเรื่องสนิม ซึ่งเบื้องต้นก็สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการอุดรอยรั่ว แต่ก็เป็นการซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อเนื่องในระยะสั้น เพราะมีโอกาสที่จะรั่วซึมได้อีก หากมีงบประมาณมากพอก็แนะนำให้เปลี่ยนจากแท้งค์น้ำสเตนเลสเป็นแท้งค์น้ำแบบไฟเบอร์กลาสที่มีความทนทานและไม่มีปัญหาสนิมมารบกวน
สำหรับแท้งค์น้ำใต้ดินนั้น แนะนำให้ตรวจสอบบริเวณฝาของ แท้งค์น้ำ อย่างละเอียด เพราะหากฝาของแท้งค์น้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดีพอ หรือมีการชำรุด ก็ย่อมจะมีน้ำสกปรกจากน้ำท่วมเข้าไปปะปนอยู่ภายในแท้งค์น้ำแน่นอน แม้จะไม่พบการรั่วซึมก็ควรล้างทำความสะอาดแท้งค์น้ำให้สะอาด โดยไม่ต้องเสียดายน้ำในแท้งค์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของเราโดยตรง
6. ติดต่อช่างซ่อมแซมปั๊มน้ำ
สำหรับบ้านที่มีการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อใช้ร่วมกับแท้งค์น้ำอยู่แล้ว ในกรณีที่น้ำท่วมปั๊มน้ำก็ให้ประเมินไว้ได้เลยว่าได้รับความเสียหายแน่นอน หากฝืนใช้งานไปอาจเกิดอันตรายจากความชื้นภายในมอเตอร์ได้ วิธีแก้ไขจึงต้องทำให้ปั๊มน้ำแห้ง ไม่มีความชื้นหลงเหลืออยู่
ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าแค่นำปั๊มน้ำมาผึ่งแดดแรง ๆ ก็น่าจะหายแล้ว แต่นั่นเป็นวิธีที่ผิดและอันตรายมากครับ เพราะความร้อนอาจทำให้ตัวมอเตอร์เกิดเพลิงไหม้ได้ วิธีที่ถูกต้องจึงต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซม หรือทำให้แห้งด้วยวิธีเฉพาะทางเทคนิค
7. จัดการกับรางน้ำ ท่อน้ำ และบ่อพักน้ำต่าง ๆ
ผลกระทบจากน้ำท่วมอีกหนึ่งสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือขยะจากทั่วทุกสารทิศ รวมทั้งโคลนตมต่าง ๆ ที่จะมาสะสมอยู่ภายในบริเวณบ้าน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นหลุมเป็นบ่ออย่างบ่อพักน้ำรอบบ้าน รางน้ำ หรือแม้แต่ภายในท่อน้ำต่าง ๆ เป็นที่มาของปัญหาท่อน้ำอุดตัน เป็นแหล่งรวมสัตว์อันตราย และกลิ่นเหม็นรบกวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ให้ใช้พลั่วตักเศษขยะ และดินโคลนขึ้นมาใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะ รวมถึงห้ามฉีดไล่ขยะลงไปตามท่อระบายน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอุดตันได้ในภายหลัง ส่วนบ่อพักน้ำที่ยังมีน้ำขังอยู่ก็สามารถใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปเพื่อช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น