เยือนบ้านใหม่ Google Thailand “บริษัทที่น่าเข้าทำงานที่สุดในโลก”
กูเกิล เป็นบริษัท ที่ได้รับรางวัลบริษัทที่น่าทำงานที่สุดในโลกประจำปี 2014 จากนิตยสาร Fortune ซึ่งก่อนหน้านี้กูเกิลเคยติดอยู่ในลิสต์ของรางวัลนี้มาแล้วมากถึง 7 ปี โดยครองอันดับหนึ่งมากถึง 5 ปีเลยทีเดียว นอกเหนือจากความเป็นผู้นำทางด้านข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่น้อยคนนักจะไม่รู้จักกูเกิลแล้ว อะไรที่ทำให้กูเกิลเป็นบริษัทที่น่าทำงานที่สุดในโลกกันนะ
วันนี้เป็นโอกาสดีครับ ที่กูเกิลประเทศไทย ได้ทำการเปิดบ้านใหม่ หรือสำนักงานประจำประเทศไทยแห่งใหม่ บนชั้น 14 อาคารปาร์คเวนเชอร์ อีโค่เพล็กซ์ ถ.วิทยุ/เพลินจิต ให้สื่อมวลชนได้เข้าเยี่ยมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาแล้ว 3 ปี ซึ่งหลังจากที่ผมได้เยี่ยมชมแล้ว ก็ไม่แปลกใจจริงๆ ว่าทำไมบริษัทนี้ มักจะถูกยกให้เป็นบริษัทลำดับต้นๆ ของโลกที่น่าร่วมงานที่สุด (Best company to work for)
ระเบียบของการเข้าเยี่ยมชมสำนักงานกูเกิล จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับ Badge หรือป้ายแสดงตัวทุกครั้ง และต้องติด Badge ให้อยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจนตลอดเวลาที่อยู่ในสำนักงาน บน Badge จะมีวันที่ มีชื่อนามสกุลของเรา รวมถึงชื่อของ Googler ที่ทำหน้าที่เป็น Host พิมพ์แสดงไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราเป็น Guest ของ Googler คนไหน นั่นแปลว่า บุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นแขกของ Googler นั้น หมดสิทธิ์ที่จะเข้าเยี่ยมชมสำนักงานกูเกิลครับ (ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยทั้งในแง่ทรัพย์สิน และข้อมูลของบริษัท)
หลังจากลงทะเบียนรับ Badge แล้ว วันนี้เจ้าบ้านอย่างคุณอริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิลประเทศไทย ก็กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนด้วยข้อมูล ที่มาที่ไป กว่าจะมาเป็นกูเกิลประเทศไทยแห่งนี้ เริ่มจากออฟฟิศเล็กๆ ทำงานเพียง 2-3 คน จนขยายมาเป็นพนักงานกูเกิลประเทศไทยมากกว่า 50 คนในปัจจุบัน ที่ต้องทำงานร่วมกับ Googler อีกกว่า 52,000 คนในสำนักงานกูเกิลกว่า 100 แห่งทั่วโลก รวมถึงคุณอริยะได้พูดถึงคำศัพท์ “Googley” (กู-กลี้) หรือ Googleyness ว่าเป็นลักษณะนิสัยของ Googler ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กรจนกลายเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกลักษณะการทำงานของคนกูเกิลว่า นี่แหละ คือการทำงานแบบ Googley
Googley เป็นนิยามรวมๆ ที่สื่อถึงวิธีการคิด วิธีการทำงานของคนในองค์กรกูเกิล ที่เน้นทำสิ่งที่ถูกต้อง (do the right thing) ทำอย่างมั่นใจ (being proactive) มองเป้าหมายเป็นหลัก (being focused) ทำให้เกินเป้าหมายอยู่เสมอ (go for the extra mile) คิดนอกกรอบ ให้รางวัลกับตัวเอง (ทำงานหนัก ก็ต้องให้รางวัลบ้าง) ให้ความสำคัญกับทีม ทำงานอย่างโปร่งใส และมีอารมณ์ขัน (สังเกตได้จากมุกตลก ลูกเล่นต่างๆ ที่กูเกิลแฝงไว้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง รวมถึงมุก April Fool’s ที่กูเกิลตั้งใจทำกันแบบสุดๆ ทุกปี) โดยความเป็น Googley ไม่มีกรอบ แต่คนที่อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรอย่างกูเกิล ย่อมรู้ดีว่าอะไรคือสิ่งที่ Googler ควรทำหรือไม่ควรทำอยู่เสมอๆ
จากนั้น คุณพรทิพย์ กองชุน หรือ “พี่อ้อ กูเกิล” (พี่อ้อถึงกับแซวตัวเองบ่อยๆ ว่าพี่อ้อนามสกุล กูเกิล) หัวหน้าฝ่ายการตลาดกูเกิลประเทศไทย ผู้ซึ่งทำงานอยู่กับกูเกิลมานานถึง 9 ปี (นานที่สุดในออฟฟิศของไทยเราแล้ว) ได้ให้ข้อมูลถึงสิ่งที่กูเกิลยึดถือและปฏิบัติ และเป็นคติพจน์อย่างเป็นทางการของกูเกิลกับคำว่า “Don’t be Evil” ซึ่งถูกเสนอแนะโดย Paul Buchheit อดีตหัวหน้าทีมพัฒนา Gmail ในปี 2000 และคำนี้ถูกใช้ในหนังสือชี้ชวนการลงทุนเมื่อครั้งที่กูเกิลเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ในปี 2004 ด้วย ว่ากูเกิลจะทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบผู้ใช้งาน และแน่นอนว่ารวมถึงการไม่เอาเปรียบพนักงานของตัวเองด้วย จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุ ว่าทำไมกูเกิลถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ให้กับพนักงานของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะกูเกิล จะไม่ ‘evil’ กับพนักงานของตัวเองเช่นกันครับ
พี่อ้อ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าตกใจอีกว่า ปัจจุบัน ทีมกูเกิลประเทศไทยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ของกูเกิลที่ได้ปรับมาเข้ากับประเทศไทย (ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย เสียงไทย แผนที่ไทย คำค้นหา ยูทูปไทย) ไปแล้วมากกว่า 100 ผลิตภัณฑ์จากทีมงานที่แข็งแกร่งของ Googler คนไทย และ Googler จากสำนักงานต่างๆ ทั่วโลก
จากนั้น คุณเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ อนุภูมิภาคกลุ่มน้ำโขง กูเกิล เอเชียแปซิฟิก ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสำนักงานกูเกิล ประเทศไทย โดยเริ่มจากบริเวณล็อบบี้ ที่มีความเป็นไทยสูงมาก โดดเด่นด้วยรถตุ๊กตุ๊ก (คันนี้ของจริงนะครับ ไม่ได้จำลองขึ้นมา) และโลโก้ของกูเกิล ที่ได้เอาประเทศไทยเข้าไปแทนที่ตัว g ดูแล้วทรงพลังอย่างมาก และบอกถึงความเป็น “กูเกิลประเทศไทย” ได้แบบไม่ต้องใช้คำบรรยายใดๆ ด้านข้างเป็นจอมอนิเตอร์ที่แสดงคำค้นในไทยแบบสดๆ ว่าตอนนี้คนไทยกำลังค้นหาคำว่าอะไรกันอยู่บ้าง (เครื่องมือนี้ชื่อว่า Google Trends) ซึ่งคำค้นในไทยช่วงนี้ ก็ประมาณนี้แหละครับ..
ผนังของสำนักงานด้านหนึ่ง เป็นภาพวาดผลงานของ Candace Rose Rardon ศิลปินนักวาดภาพเจ้าของรางวัลเชิงท่องเที่ยว วาดภาพวิถีชีวิตคนไทยในภาคต่างๆ ที่ผสมผสานเอาเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน และมีอารมณ์ขัน (เช่นรูปเด็กขี่ควาย และดูวิดีโอบนแท็บเล็ตไปด้วย) เป็นต้น
ห้องประชุมในสำนักงานแห่งนี้ มีชื่อห้องเป็นชื่อไทยทั้งหมด เช่นห้องรัตนโกสินทร์, ห้องทองหล่อ ฯลฯ โดยใช้เทคโนโลยีของกูเกิลในการทำ video conference เชื่อมต่อกับสำนักงานกูเกิลแห่งอื่นๆ ทั่วโลกด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด (กูเกิลไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพในห้องประชุม เลยไม่มีรูปประกอบนะครับ) มีห้องประชุมหลายขนาด รองรับการประชุมได้หลายระดับ
โต๊ะทำงานของสำนักงานนี้ จะเป็นแบบ Open ทั้งหมด ไม่มีใครมีห้องทำงานส่วนตัว แม้แต่คุณอริยะ หรือพี่อ้อเอง ก็นั่งทำงานในพื้นที่เปิดร่วมกับ Googler คนอื่นๆ โต๊ะทำงานจะแบ่งเป็น โต๊ะทำงานของพนักงานประจำ กับโซนที่เป็นโต๊ะทำงาน Hot Desk สำหรับรองรับ Googler จากประเทศอื่น ก็สามารถเอาคอมพิวเตอร์ของตัวเองมาเสียบกับโต๊ะ Hot Desk ที่นี่เพื่อนั่งทำงานได้เลยทันที โดย Badge ของพนักงานกูเกิลทุกคน สามารถใช้เข้าสำนักงานของกูเกิลได้ทุกแห่งทั่วโลกครับ
โซนพักผ่อน เป็นอะไรที่คนออฟฟิศน่าจะอิจฉากูเกิลมากที่สุดเลยครับ การทำงานที่เคร่งเครียด ก็ต้องมีการผ่อนคลาย เริ่มจากสิ่งที่แสดงถึงความเป็นไทยที่สุดก็คือมีมุมนวดแผนไทย (อย่างจริงจังนะครับ) และเป็นมุมที่ได้รับความนิยมอย่างมากด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมุมนวดแผนไทยนี่มีอยู่ในสำนักงานใหญ่ของกูเกิลที่ Mountain View ด้วยครับ ใช้หมอนวดคนไทยนี่แหละ เข้าไปให้บริการ Googler ถึงที่โน่นเลย
มุมสำหรับนั่งพักผ่อน โซฟา บีนแบ็ก อุปกรณ์ความบันเทิง อย่างเครื่องเล่นเกม โต๊ะพูล ก็มีให้บริการกับพนักงานชนิดจัดเต็มครับ หรือคนที่ชอบออกกำลังกาย ก็มีลู่วิ่งอยู่ในออฟฟิศเลยด้วย ทั้งหมดนี้ ไม่มีกำหนดเวลาครับ จะมาใช้กี่โมงก็ได้ จะใช้นานแค่ไหนก็ได้ ซึ่ง Googler แต่ละคนต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง เรียกว่า เวลางานเป็นงาน เวลาพักเป็นพัก
ของกินบ้างครับ จะมีทั้งหมดสองส่วน คือส่วนที่เป็นครัวเล็กๆ หรือที่กูเกิลเรียกว่า Micro Kitchen โซนนี้จะเหมือนกับเป็นบาร์ ที่มีขนมนมเนย เครื่องดื่มร้อนเย็นต่างๆ ให้พนักงานเดินมาหยิบได้ฟรีๆ แบบไม่อั้น (ส่วนใครถามว่าหยิบกลับบ้านได้มั้ย ก็ตอบว่าได้ครับ แต่ไม่ใช่ลักษณะนิสัย Googley) กับอีกส่วนหนึ่งคือห้องอาหาร ที่มีอาหารเช้า กลางวัน เย็น บริการแบบฟรีๆ เช่นกัน โดยแต่ละวันจะมีเมนูที่แตกต่างกันไป และมีเมนูให้เลือกหลากหลายด้วย โซนนี้จะมีโต๊ะอาหารให้นั่งเป็นสัดส่วนเลย และถ้าเป็นช่วงบ่ายไปแล้ว ก็จะบริการเป็น Afternoon Tea ขนมนมเนยแบบเบาๆ โดยทั้งสองส่วนนี้ แขกที่มาเยือน (มี Badge ของ Google Guest) สามารถใช้บริการได้ฟรีเช่นกัน
บริษัทที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานเป็นหลักแบบนี้ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเทคนิคของเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานบ้างครับ เช่นคีย์บอร์ดเสีย สายชาร์จไม่เพียงพอ หรือ คอมพิวเตอร์มีปัญหาต่างๆ ทางกูเกิลก็เตรียมแก้ปัญหาไว้ด้วยมุมที่เรียกว่า Tech Stop สำหรับเบิกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปทดแทนตัวที่ชำรุด หรือแม้กระทั่งซ่อมและตอบปัญหาทางเทคนิคให้กับพนักงาน ส่วนนี้ก็ให้บริการฟรีสำหรับ Googler เช่นกัน (ถ้าใครคิดว่านี่เยอะแล้ว ที่สำนักงานใหญ่ Mountain View นี่หนักกว่าอีกมากครับ ไม่ว่าจะซักผ้าฟรี ตัดผมฟรี ซ่อมรถให้ ฯลฯ) เรียกได้ว่าส่วนไหนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพนักงาน ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กูเกิลจัดไว้ให้ครบพร้อมทุกอย่างเลย
สวัสดิการต่างๆ ทั้งหมดที่ว่ามา อาจจะไม่เพียงพอต่อการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะขึ้นแท่นเป็น The Best Company to Work for ได้หรอกครับ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของกูเกิล ทั้งโอกาสในการร่วมงานกับคนเก่งๆ ความท้าทายที่ไม่สิ้นสุด โอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพการงาน ความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะมีผู้ใช้งานหลายล้านคนทั่วโลก และปัจจัยเล็กน้อยอีกหลายอย่างมากกว่า ที่ทำให้ Google เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีผู้อยากเข้ามาร่วมงานมากที่สุดในโลก สมคำร่ำลือที่กูเกิลได้รับรางวัลนี้จากสื่อหลายสำนักอย่างไม่แปลกใจ
หลังจากได้เดินดู และมีโอกาสได้พูดคุยกับ Googler หลายคนที่รอบหลายปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่ากูเกิล จะเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนมาก มีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน และมีศักยภาพที่จะสร้างผลิตภัณฑ์เจ๋งๆ ออกมาให้เราได้เห็นกันอีกหลากหลายอย่างต่อจากนี้ไปครับ ขอแสดงความยินดีกับกูเกิลประเทศไทย ในโอกาสที่ได้บ้านใหม่อย่างสวยงามวันนี้ด้วยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก pantip.com , สมาชิกหมายเลข 1946785
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น