วิธีแก้ปัญหาน้ำรั่วซึมจาก..ก๊อกอ่างล้างจาน
ปัญหาก๊อกน้ำรั่วซึมเป็นปัญหาที่พบบ่อยในทุก ๆ บ้าน ปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบแก้ไข ปัญหาที่ตามมาคือบิลค่าน้ำที่จะพุ่งสูง วันนี้เรามีวิธีการซ่อมก๊อกน้ำเบื้องต้นมาฝากพ่อบ้านแม่บ้านกัน ลองเช็คด้วยตัวเองก่อนเรียกช่างมาซ่อม ก็ถือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
1. ตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้น้ำรั่วซึม
ลำดับแรกของการแก้ปัญหา เมื่อพบว่ามีน้ำรั่วซึมจาก หัวก๊อกอ่างล้างจาน ก็คือ การตรวจสอบร่องรอยการรั่วซึมของก๊อกว่าอยู่บริเวณไหน โดยวิธีการสังเกต ให้ดูตรงบริเวณรอยหยดหรือรอยน้ำที่เกิดขึ้น ว่าใช่บริเวณรอยข้อต่อของก๊อกน้ำหรือไม่ หากพบว่าใช่ ให้ทำการปิดวาล์วน้ำให้เรียบร้อย โดยให้ปิดเฉพาะวาล์วที่จ่ายน้ำมายังก๊อกที่มีน้ำหยดเท่านั้น
2. หมุนก๊อกออกจากกัน
เมื่อปิดวาล์วและเช็กบริเวณรอยรั่วซึมเรียบร้อยแล้ว ให้นำเศษผ้ามาหุ้มบริเวณหัวก๊อก หลังจากนั้นให้นำประแจ คีม หรือสกรู เอามาไขเพื่อคลายหัวก๊อก โดยให้หมุนในทิศทวนเข็มนาฬิกา หรืออีกกรณีสามารถไขตัวก๊อกได้เลยโดยไม่ต้องใช้เศษผ้าหุ้มก็ได้
3. สังเกตรอยกัดกร่อนและคราบหินปูน
เมื่อไข ก๊อกซิงค์อ่างล้างจาน เรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถยกก้านจับออกมาได้เลย ในส่วนของตัวครอบนั้นไม่ได้มีผลกับการไหลของน้ำ แต่หากสังเกตแล้วจะเห็นว่า ภายในมีคราบสกปรกอยู่มากมาย อาจทำให้น้ำไหลช้าได้ ซึ่งคุณสามารถล้างทำความสะอาดได้ทันที
ส่วนบริเวณสายน้ำดี เมื่อถอดออกมาแล้วให้นำไปทำความสะอาดให้เรียบร้อย หลังจากนั้นให้ใช้ไขควงแคะหินปูนออกให้หมด แคะหินปูนออกแล้วสังเกตว่าไม่มีร่องรอยกัดกร่อน หรือข้างในยังมีพื้นผิวที่เรียบเสมอกัน ก็สามารถใช้ก๊อกน้ำต่อได้เลย แต่หากมีรอยกัดกร่อนชัดเจน แสดงว่าอาจจะต้องเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่แทน
4. ทำการเช็กหัววาล์ว ว่าปกติดีหรือไม่
หลังจากที่ทำความสะอาดส่วนต่าง ๆ ของ ก๊อกซิงค์อ่างล้างจาน เรียบร้อยแล้ว ให้มาตรวจเช็กดูว่าตัววาล์วหมุน เปิด-ปิด ก๊อก เสื่อมสภาพหรือมีเศษอะไรติดอยู่หรือไม่ หากไม่มีแสดงว่าปัญหาของน้ำรั่วซึมที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของตัวเปิด-ปิด น้ำ สามารถใส่กลับเข้าไปตามเดิมได้เลย โดยให้ใช้ประแจเลื่อนไขกลับในทิศตามเข็มนาฬิกา เพื่อทำให้ก๊อกแน่นหนา โดยอย่าลืมใส่โอริง หรือ O-Ring (ยางวงสีดำ หรือขาว) กลับเข้าไปด้วย
เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ลอง เปิด-ปิด น้ำดู ว่ายังมีปัญหาน้ำรั่วซึมอีกหรือไม่ หากไม่มีแสดงว่าทุกอย่างปกติดี ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะว่าเวลาใช้งานอาจจะทำให้ตัววาล์วขยับเขยื้อน หรือคลายออกจากเดิม โดยในส่วนนี้
นอกจากจะลองเปิด-ปิด เพื่อตรวจเช็กการรั่วซึม หรือน้ำรั่วแล้ว ควรทดลองบิดปลายท่อก๊อกด้วย ถ้าไม่มีน้ำซึมออกมา แสดงว่าเรียบร้อยดี แต่หากยังขยับอยู่ ไม่แน่นพอ ให้ทำการขันก๊อกน้ำใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำซึมอีก
5. วิธีแก้หากพบว่ามีรอยกัดกร่อน หรือยางรั่วซึมเสื่อมสภาพ
ให้ทำการเปลี่ยนยางวงที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่ยางวงที่มีขนาดเท่าของเดิม หรือหนามากกว่าเข้าไปแทน แต่หากยางที่ใส่มีความหนาเกินไป ให้เอากระดาษทรายมาขัดให้ยางบางลง เมื่อประกอบเสร็จแล้ว ให้ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ กลับเข้าไปตามเดิม แล้วตรวจเช็กว่ายังมีปัญหาการรั่วซึมอีกหรือไม่
นอกจากนี้ หากบริเวณจุดเชื่อมต่อของสายน้ำดีมีปัญหา ในขั้นตอนของการถอดสายน้ำดีออก ให้ทำการพันเกลียวใหม่ด้วยเทปพันเกลียว หลังจากนั้นให้ประกอบส่วนต่าง ๆ กลับเข้าไป ถ้ามีซีลยางอย่าลืมใส่กลับเข้าไปตามเดิมด้วยเช่นกัน
6. เปลี่ยน ก๊อกซิงค์อ่างล้างจาน ใหม่
หากในขั้นตอนของการถอดส่วนประกอบต่าง ๆ ออกมาแล้วพบว่า มีร่องรอยการผุกร่อนที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่คราบหินปูน หรือซีลยางไม่สนิท จนทำให้น้ำไหลซึมโดยไม่ผ่านวาล์วเปิด-ปิด น้ำ ที่เป็นเซรามิก แสดงว่าต้องทำการเปลี่ยนก๊อกซิงค์ใหม่แทนเท่านั้น เพราะถึงแม้จะแก้ไขไปตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว ท้ายที่สุดน้ำก็ยังคงรั่วซึมเช่นเดิม
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น