ส่องชีวิตชาวชุมชนแออัดใน ‘ฟิลิปปินส์ และ บราซิล’ เอาตัวรอดอย่างไรโดยไม่มีไฟฟ้า
พาไปดูวิถีชีวิตชาวชุมชนแออัดในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์และเมืองริโอเดจาเนโรของบราซิลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ชุมชนแออัดในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในประเทศ บทความเรื่อง In the slums of Manila, inequality is so bad that the worst off have no chance to protest (ในสลัมมะนิลา ความไม่เท่าเทียมนั้นแลวร้ายถึงขั้นที่คนที่แย่ที่สุดไม่มีโอกาสประท้วง) เมื่อปี 2014 ระบุว่า ในเมืองหลวงแห่งนี้มีประชากรราว 4 ล้านคนอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จากประชากรในกรุงมะนิลาทั้งหมด 21.3 ล้านคน
ชุมชนแออัดของที่นี่มักจะตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่หลัก 4 แห่งคือ แม่น้ำหรือชายฝั่ง บ่อทิ้งขยะ ถนนในแหล่งท่องเที่ยว มุมถนนหรือสี่แยกในย่านการค้า โดยสวัสดุที่นำมาสร้างบ้านมีตั้งแต่ไม้ ไม้ไผ่ เหล็ก บล็อกคอนกรีต
เนื่องจากสถานะที่ไม่เป็นทางการของผู้คนที่อาศัยในชุมชนแออัด ทำให้สาธารณูปโภคและบริการสาธารณะต่างๆ เข้าไม่ถึงชุมชนเหล่านี้ ชาวชุมชนแออัดจึงต้องพึ่งพาทางเลือกอื่นเพื่อให้เข้าถึงน้ำไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้บริการของเอกชนหรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ของรัฐ
จากการคำนวณค่าใช้จ่ายครัวเรือนในชุมชนแออัดในกรุงมะนิลาพบว่า ชาวบ้านต้องจ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟแพงกว่าปกติ เมื่อเทียบกับชาวกรุงที่อยู่ในพื้นที่ให้บริการของทางการ และในบางเคสชาวชุมชนแออัดต้องจ่ายค่าน้ำสูงกว่าค่าน้ำจากทางการถึง 4,200%
นอกจากนี้ ชาวชุมชนแออัดบางรายยังลักลอบต่อไฟจากเสาไฟฟ้าหลักจนบางครั้งมีการใช้ไฟเกินจนเกิดไฟฟ้าลัดวงจรไหม้เสียหายทั้งชุมชน
ในช่วงหลัง ๆ อาสาสมัครและทางการท้องถิ่นได้เข้าไฟติดตั้งหลอดไฟโซลาร์เซลล์แบบง่ายๆ ที่ผลิตจากขวดน้ำพลาสติกที่น้ำมาใส่น้ำและสารฟอกขาว ติดตั้งบนหลังคาสังกะสีเจาะรูที่สามารถให้แสงสว่าง 55 วัตต์โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเลย
สำหรับชาวชุมชนแออัดที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 2 เหรียญสหรัฐ หรือ 60 บาท ไฟฟ้าถือเป็นเรื่องสำคัญขนาดที่บางคนยอมอดข้าวเพื่อเก็บเงินไว้จ่ายค่าไฟฟ้า เพราะหากจ่ายช้าไฟฟ้าจะถูกตัดทันที
ข้ามไปที่ชุมชนแออัดในเมืองริโอเดจาเนโรของบราซิลที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในบราซิลจะเรียกชุมชนแออัดว่า ฟาเวลา (favela) โดยการทำสำมะโนประชากรเมื่อปี 2010 พบว่า 6% ของประชากรบราซิลอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือราว 11.25 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ทว่าตัวเลขจริงๆ อาจมากกว่านี้ อาทิ ในเมืองโฮซินญาซึ่งเป็นฟาเวลาที่ใหญ่ที่สุดของบราซิลที่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอยู่ที่ราว 180,000 คน ขณะที่ตัวเลขจากสำมะโนประชากรอยู่ที่เพียง 70,000 คน
ก่อนหน้านี้ฟาเวลาของบราซิลถูกบรรดาพ่อค้ายาเสพติดเข้าแรกซึมและเข้าควบคุมพื้นที่โดยไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการสาธารณะอย่าง น้ำ ไฟ หรือบริการสาธารณสุข ช่วงนี้ชาวบ้านจึงต้องลักลอบต่อไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าแรงสูงซึ่งเสี่ยงที่จะถูกไฟฟ้าชอร์ต
ต่อมาราวปี 1996 ทางการริโอเดจาเนโรเริ่มเข้ามาทวงคืนพื้นที่จากเจ้าพ่อยาเสพติดแล้วค่อยๆ พัฒนาพื้นที่ฟาเวลาภายใต้โครงการเปลี่ยนสลัมเป็นย่านชุมชน หลังจากนั้นจึงมีบริษัทเอกชนเข้าไปให้บริการไฟฟ้า
ปัจจุบันชาวชุมชน 99% มีไฟฟ้าใช้ และส่วนใหญ่เข้าถึงน้ำประปา นอกจากนี้ชาวบ้านยังสามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารเพื่อเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การเข้ารับการฝึกอบรมการเป็นผู้ประกอบการ การเข้าถึงบริการทางการเงิน
อย่างไรก็ดี รายงานของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า การเข้าไปพัฒนาฟาเวลาของทางการส่งผลให้อัตราค่าเช่าที่พักอาศัยสูงขึ้น ซึ่งเป็นการผลักดันให้ชาวบ้านที่ยากจนเข้าไปยึดอาคารร้างในแถบชานเมืองเป็นที่อยู่แทน
รายงานระบุว่า อาคารเก่าของสถาบันภูมิศาสตร์และสถิติ (IBGE) ที่อยู่ห่างจากสนานกีฬามาราคานาไม่ถึง 1 ไมล์ ถูกชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัวเข้าไปยึดครองโดยไม่มีการจัดการระบบสุขอนามัย น้ำประปา หรือความปลอดภัย
ถึงกระนั้น 2 ใน 3 ของชาวบ้านที่ถูกสอบถามระบุว่า พวกเขาไม่ต้องการย้ายออกจากตึกร้างที่พวกเขาเรียกว่าบ้านแห่งนี้ โดยให้เหตุผลว่ามิตรภาพ ความภาคภูมิใจ และศักดิ์ศรีทำให้พวกเขาต้องการอยู่ที่นี่ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : Posttoday / Wikipidia
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น