70 ปี สงครามโลกครั้งที่ 2 นิวเคลียร์ และ คำประกาศแพ้สงคราม “ญี่ปุ่น”
เมืองฮิโรชิมาหลังระเบิดปรมาณู
6 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 70 ปี เหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะนำมาซึ่งจุดสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติสงครามมหาอำนาจที่ยืดยาวเกือบ 6 ปี แต่นำมาซึ่งความเจ็บปวดร้าวลึกของชาวอาทิตย์อุทัย
นับเป็นความพ่ายแพ้ร่วมกันของมนุษยชาติ นอกจากความเสียหายในทรัพย์สินแล้ว หลายสิบล้านชีวิตทั่วโลกต้องจากไปอย่างไม่มีวันเรียกคืนจากสงครามที่ยืดเยื้อ และตามมาด้วยการพยายามฟื้นตัวของประเทศผู้แพ้สงครามที่ต้องถอยหลังกลับไปหลายก้าว ไม่นับรวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนในประเทศที่ต้องเผชิญความสูญเสียทุกด้าน
และวันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะครบรอบ 70 ปีที่จักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม หลังโดนโจมตีอย่างสาหัส
ผ่านมาถึง 70 ปี เทียบกับอายุคนคงเป็นผู้สูงอายุที่ผ่านประสบการณ์ทั้งชีวิตมาแล้ว คนรุ่นหลังเติบโตขึ้นมาโดยรับรู้เรื่องราวครั้งนั้นผ่านวิชาประวัติศาสตร์ รู้สึกร่วมบ้าง ผ่านเลยไปบ้าง
คนยุคปัจจุบันเรียนรู้จากสงครามครั้งนั้นได้เพียงใด ขณะที่คนรุ่นปู่ย่าตายายที่ทันเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ต้องเก็บความเจ็บปวดไว้ลำพัง ก่อนจะรอคอยความตายให้พรากประวัติศาสตร์ไปจากความทรงจำ
โลกได้อะไรจากความเจ็บปวดสากรรจ์ครั้งนั้น
เด็กน้อยกับชายอ้วนระเบิดจอมสวาปาม
เวลา 08.15 น. เช้าแห่งวันวิปโยค เครื่องบินชื่อ “Enola Gay” ของกองกำลังอากาศแห่งกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ทิ้งระเบิดปรมาณู ในชื่อรหัส “ลิตเติลบอย (Little Boy)”
ภาพควันระเบิดรูปดอกเห็ดขนาดใหญ่เกิดขึ้นเหนือเมืองฮิโรชิมา ใต้กลุ่มควันนั้นผู้คนราว 7 หมื่นคนเสียชีวิตทันที และอีกราว 7 หมื่นคนเจ็บป่วยจากสารกัมมันตรังสีแล้วเสียชีวิตในเวลาต่อมา “ฮิโรชิมา” เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดกาลในเช้าวันนั้น
3 วันต่อมาหลังเหตุวิปโยคที่ฮิโรชิมา “แฟตแมน (Fat Man)” ปรมาณูลูกต่อมา ทิ้งตัวกลางอากาศเหนือเมือง นางาซากิ แม้แฟตแมนจะมีอานุภาพรุนแรงกว่าลิตเติลบอย แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศเมืองนางาซากิที่เป็นหุบเขา ต่างจากฮิโรชิมาที่เป็นพื้นราบ ทำให้แฟตแมนสร้างความเสียหายได้น้อยกว่า แต่ก็ยังคร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อย เปลี่ยนเมืองอันงดงามให้เป็นนรกบนดินในพริบตาเดียว
ทิ้งชื่อไว้ว่าเป็นเมืองสุดท้ายในโลกที่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์
คำประกาศแพ้สงคราม ของสมเด็จพระจักรพรรดิ
ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะพระราชทานพระราชดำรัสทางวิทยุ ซึ่งเป็นเสียงที่บันทึกไว้ในวันที่ 14 สิงหาคม แล้วเผยแพร่สัญญาณทั่วจักรวรรดิในวันถัดมา ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร พระราชดำรัสนี้เรียกว่า “เกียวกุอง โฮโซ” นับเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีพระราชดำรัสไปยังสามัญชน แต่เนื่องจากใช้ภาษาทางการและศัพท์ชั้นสูงในภาษาญี่ปุ่นที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก
ยามเย็นหนึ่งวันก่อนการเผยแพร่พระราชดำรัส ทหารหลายฝ่ายในญี่ปุ่นไม่พอใจองค์จักรพรรดิเป็นอย่างมาก เกิดความพยายามจะปฏิวัติ บุกเข้าพระราชวังแต่ไม่สำเร็จ “เกียวกุอง โฮโซ” จึงถูกเผยแพร่ในวันถัดมา
เนื้อความว่า พระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำแก่รัฐบาลที่จะยอมรับข้อตกลงของปฏิญญาพอตสดัม (Potsdam Declaration) ซึ่งอเมริกา อังกฤษ จีน และโซเวียต ร่วมกันเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข
“เราได้มีบัญชาให้รัฐบาลของเราติดต่อไปยังรัฐบาลของอเมริกา อังกฤษ จีน โซเวียต ว่าจักรวรรดิของเรายอมรับปฏิญญาที่พวกเขาได้ร่วมกันประกาศไว้ เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความสุขร่วมกันของชาติทั้งหลาย รวมทั้งความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาราษฎร์ของเรา”
และ “อย่างไรก็ตาม มันเป็นไปตามลิขิตของเวลาและโชคชะตาที่ว่า เราได้ตั้งใจที่จะปูทางสำหรับสันติภาพเพื่อลูกหลานสืบต่อไปโดยการอดทนในสิ่งที่ไม่อาจทนทานได้ และยอมรับความทรมานในสิ่งที่ไม่อาจรับความทรมานได้”
แม้เป็นการยอมรับเงื่อนไข “ยอมแพ้” แต่ญี่ปุ่นไม่อาจเอ่ยถ้อยคำยืนยันว่าตนเองนั้นเป็น “ผู้แพ้”
วันที่ 2 กันยายน 1945 จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนนอย่างเป็นทางการ มาโมรุ ชิเกมิตซุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น และยุติความเป็นศัตรูกันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อหน้ากองทัพสหรัฐ บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี (BB-63) ของกองทัพเรือสหรัฐ
ยุติสงครามอย่างเป็นทางการ
(บน) มาโมรุ ชิเกมิตซุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น เบื้องหน้าพลเอก ริชาร์ด เค. ซูเธอร์แลนด์ (ล่าง) กลุ่มต่อต้านนิวเคลียร์ในปารีส แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงประเทศที่ยังคงสะสมระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ภาพเอเอฟพี
ศาลเจ้ายาสุกุนิ สัญลักษณ์ความชิงชัง
แทบทุกปี ผู้คนทั่วโลกจะได้ยินชื่อ ศาลเจ้ายาสุกุนิ จากข่าวสาร โดยเฉพาะเมื่อ จุนอิจิโร่ โคอิซุมิ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะดวงวิญญาณทหารญี่ปุ่นผู้ล่วงลับในสงครามโลกครั้งที่ 2
ศาลเจ้ายาสุกุนิ ที่มีชื่ออันหมายถึงความสงบสุข สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมจิ (ราวปี 1869) อยู่ที่เขตชิโยะดะ กรุงโตเกียว เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามกลางเมือง (สงครามโบะชิง) ระหว่างกองกำลังผู้สนับสนุนรัฐบาลโชกุนโตกุกาว่า กับกองกำลังจักรพรรดินิยมของญี่ปุ่น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังถูกใช้เป็นที่สถิตของเหล่าดวงวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่สละชีพในสงครามกว่า 2,466,000 คน บรรจุป้ายชื่อทหารและอาชญากรสงคราม รวมถึง ฮิเดะกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้บัญชาการให้กองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์
ในแต่ละปีองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นและพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จมาเยือนที่นี่บ่อยครั้ง และพิธีสักการะจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง
ไม่แปลกที่การแสดงความเคารพต่อศาลเจ้ายาสุกุนิจะตามมาด้วยกระแสความเกลียดชัง โดยเฉพาะจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ เนื่องจากความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นที่กระทำระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างบาดแผลร้าวลึกในใจประเทศที่ได้รับผลกระทบ
การเดินทางไปสักการะดวงวิญญาณทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงคล้ายเป็นการไม่ยอมรับความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นที่สร้างบาดแผลให้มนุษยชาติ คล้ายเป็นการยกย่อง “ฆาตรกรสงคราม” การแสดงออกของญี่ปุ่นในทุกๆ ปีจึงเป็นที่จับจ้องของชาวโลก ที่จะตามมาด้วยการประท้วงอย่างเกลียดชัง
แต่ในมุมมองของคนญี่ปุ่นเองมีวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญแก่การสักการะดวงวิญญาณบรรพบุรุษ การแสดงความเคารพต่อนักสู้ในสงครามอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
เหตุการณ์นี้เองที่ยังคงเป็นบาดแผลกรีดซ้ำ แม้เวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี
ผลพวงสงครามที่ยังลบไม่ออก
ในปีนี้ นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ มาร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปี การทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมา พร้อมคณะรัฐมนตรี ฝ่ายอเมริกามี แคโรไลน์ เคนเนดี เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศญี่ปุ่น และ โรส กัตต์โมลเลอร์ ปลัดกระทรวงควบคุมอาวุธและความปลอดภัยระหว่างประเทศของสหรัฐ มาร่วมงานที่อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา
อาเบะกล่าวท่ามกลางแววตาที่เศร้าหมองของชาวญี่ปุ่นนับแสนที่มาร่วมรำลึก
“ในฐานะประเทศเดียวในโลกที่เคยถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณู เรามีภารกิจที่จะต้องสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์”
และ “พวกเราต่างได้รับหน้าที่ที่จะต้องถ่ายทอดเรื่องราวอันแสนอำมหิตของอาวุธนิวเคลียร์จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงประเทศต่างๆ”
เป็นสุนทรพจน์ที่กล่าวขึ้นในวันที่เกือบทั่วโลกปฏิเสธและต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ห้ำหั่นกัน แต่ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศก็ยังสะสมอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแสดงแสนยานุภาพ ขณะที่เอ่ยปากขอสันติภาพคืนสู่โลกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
(ซ้าย) เกียวกุองโฮโซ คำประกาศยอมจำนนของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (ขวา) ชินโสะ อาเบะ ในพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปี การทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม
แม้การทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิจะนำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลายฝ่ายก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ช่วยยุติความขัดแย้งและนำมาซึ่งสันติภาพ
หรือหากวันนั้นกองทัพสหรัฐไม่ทิ้งบอมบ์ประเทศญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจบลงด้วยหน้าตาที่เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ทำได้เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์หมุนไปแล้ว คือพยายามอย่าให้หมุนกลับมาซ้ำจุดเดิม
เพราะความสงบอันเกิดจากความตาย ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นชัยชนะของมนุษยชาติ
ฤๅประวัติศาสตร์ ไม่ให้บทเรียน?
ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกศึกษา กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์เริ่มต้นจากที่ญี่ปุ่นไปรุกราน เพียงแต่ว่าจำเป็นไหมที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น ตอนนั้นมีสาเหตุ 2 อย่างที่ทำให้เกิดระเบิดนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น
“นายพลดักลาส แมกอาเธอร์ ที่เคยเป็นผู้บัญชาการยึดครองประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามยุติ ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้ระเบิดคราวนั้น คิดว่าถ้าไม่ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ยังไงในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องพ่ายแพ้อยู่แล้ว แต่ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ตัดสินใจตั้งแต่ตอนที่รู้ว่าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ จึงต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้มีคนเสียชีวิตมากไปกว่านี้ แต่ทหารเองบอกว่าถ้าจำเป็นต้องใช้การยกพลขึ้นบกจะไม่มีคนตายมากขนาดนั้น ก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาใช้ระเบิดเพลิงมาหนึ่งปีก็ตายเป็นแสนคน จะใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ถ้าจะทำสงครามจำนวนคนตายก็ไม่ต่างกันอยู่ดี
“ก่อนทรูแมนประกาศทิ้งระเบิด เขาถูกสมาชิกคองเกรสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่านำเงินมหาศาลไปลงทุนสร้างอาวุธปรมาณู ฉะนั้น มูลเหตุจูงใจที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อญี่ปุ่น เพื่อที่จะให้ความชอบธรรมว่ามันมีอานุภาพที่จะทำให้สงครามยุติได้เร็ว คิดว่ามีประโยชน์กับการลงทุน”
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง อ.ไชยวัฒน์บอกว่า ช่วงใกล้สงครามยุติ รัสเซียประกาศยกเลิกสนธิสัญญาต่างๆ ที่ทำกับญี่ปุ่น เริ่มส่งกำลังเข้ามาในญี่ปุ่นด้วย สหรัฐมองว่าหลังสงครามยุติแล้วสหภาพโซเวียตจะเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกาในการสร้างอิทธิพลในเอเชีย จึงแสดงแสนยานุภาพให้โซเวียตเห็น
2 ปัจจัยนี้ เป็นมูลเหตุจูงใจที่ทรูแมนตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณู ทั้งที่ญี่ปุ่นก็เตรียมยอมแพ้อยู่แล้ว
อ.ไชยวัฒน์กล่าวอีกว่า มีอดีตผู้นำสหรัฐอเมริกาหลายคน รวมถึงโอบามา เห็นว่าควรทำลายอาวุธนิวเคลียร์ให้หมด แต่จนแล้วจนรอดถึงปัจจุบัน ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 6-7 ประเทศก็ยังไม่มีใครเริ่มทำลายอาวุธนิวเคลียร์
“บางคนบอกว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะพลังยับยั้งของอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ประเทศมหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์มีความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ทำสงครามต่อกัน ถ้าจะให้ดีที่สุด ทุกฝ่ายทำลายให้หมดสิ้นก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ถ้าไม่มีอาวุธอะไรเป็นดุลแห่งความหวาดกลัว มหาอำนาจอาจไม่ยับยั้งชั่งใจและทำสงครามกันอีกได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 70 ปีมาแล้ว ยังไม่มีสงครามระหว่างมหาอำนาจด้วยกัน ที่ผ่านมาก็เป็นสงครามตัวแทน อาจมีปัจจัยเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจ ทำให้เป็นปัจจัยยับยั้งชั่งใจไม่ให้ทำสงคราม เพราะจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ”
ส่วนญี่ปุ่นเองหลังสงครามตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริการ่วม 7 ปี ช่วยร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลก สั่งให้ญี่ปุ่นยุบกองทัพทั้งหมด เขียนในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ
“แต่เมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โซเวียตกับจีนเป็นพันธมิตรทางอุดมการณ์กัน ขณะที่อเมริกาต้องอาศัยญี่ปุ่นต่อต้านโลกคอมมิวนิสต์ พอเกิดสงครามเกาหลีปี 1950 อเมริกาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นตั้งกองกำลังขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ′ตำรวจกองหนุนแห่งชาติ′ (National Police Reserve) จำนวนเท่าทหารอเมริกาในญี่ปุ่นที่ไปรบที่เกาหลี คือ 75,000 นาย จากนั้นอีก 1-2 ปี เปลี่ยนเป็น กองกำลังป้องกันตัวเอง ใช้มาจนถึงวันนี้
“มีประเด็นว่าการที่ญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตัวเองและขยายอำนาจไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันประมาณ 2 แสน 3 หมื่นนาย และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยไม่เป็นสองรองใครในโลกนั้น ละเมิดรัฐธรรมนูญไปแล้วหรือยัง นายกฯอาเบะจึงตีความรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งตอนนี้ผ่านสภาผู้แทนไปแล้ว กำลังถกเถียงในสภาสูงว่าให้ผ่านกฎหมายที่รัฐบาลเสนอว่า ต่อไปนี้ให้สามารถทำสงครามป้องกันร่วมกับประเทศอื่น นอกประเทศญี่ปุ่นได้ กำลังถกเถียงว่าการตีความใหม่นี้ในที่สุดแล้วอาจทำให้ญี่ปุ่นต้องไปทำสงครามเหมือนในสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกหรือเปล่า” อ.ไชยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติชนออนไลน์
แสดงความคิดเห็น