วิธีเพาะถั่วงอก ในกระถางดินเผา ให้ได้ต้นอวบอ้วน แถมกรอบ และขาวสวย
“ถั่วงอก” เป็นผักเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เป็นผักชนิดเดียวที่ใช้เวลาเพาะเพียง 3-4 วัน
แต่ทุกวันนี้ พบว่าถั่วงอกส่วนใหญ่ที่จำหน่ายนั้น มีสารเคมีปนเปื้อน เพราะผู้ขายต้องการสนองตลาดผู้บริโภคที่ชอบถั่วงอกที่มีความกรอบ ขาว และอวบอ้วน นอกจากนี้ผู้ขายยังต้องการเร่งการงอกของถั่ว การรักษาถั่วงอกให้คงความสดอยู่นาน ระหว่างการขนส่งสู่ตลาดและการรอจำหน่ายสู่ลูกค้า
ดังนั้นผู้ผลิตจึงใช้สารเคมีจำพวกสารเร่ง สารอ้วน สารฟอกขาว (โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) สารคงความสด (ฟอร์มาลีน) ซึ่งสารเคมีเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหาร เพราะล้วนเป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายสูง หากรับประทานเข้าไปอาจจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ ระบบประสาทและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะถั่วงอก
เมล็ดถั่วที่นำมาเพาะเป็นถั่วงอกที่นิยมบริโภคที่สุดคือเมล็ดถั่วเขียวเมล็ดถั่วเขียวที่สามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกนั้นมี2พันธุ์คือ ถั่วเขียวผิวมัน (เปลือกเมล็ดสีเขียว) และเมล็ดถั่วเขียวผิวดำ เมล็ดจะต้องใหม่ไม่เก่าเก็บเพราะอัตราการงอกจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เก็บไว้ เมล็ดต้องสะอาด ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ และจะต้องนำเมล็ดมาทำความสะอาดอย่างดีก่อนเพาะ
– โดยการแช่เมล็ดถั่วในน้ำอุ่น 50-60 องศาเซลเซียส (พอใช้มือสัมผัสได้) หรือผสมน้ำเดือดจัด 1 ส่วน กับน้ำเย็น 1-3 ส่วน แช่ทิ้งไว้จนน้ำเย็น แล้วแช่ต่อไปนาน 6-8 ชั่วโมง วิธีนี้นอกจากจะฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังกระตุ้นให้ถั่วงอกงอก ได้เร็วขึ้นด้วย เมล็ดพันธุ์ถั่วต้องดี มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง
สายพันธุ์ถั่วเขียวที่แนะนำคือ สายพันธุ์ “กำแพงแสน 2” เนื่องจากเป็นถั่วเขียวผิวมนเมล็ดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงทำให้ถั่วงอกที่เพาะออกมา ต้นโต ยาว อวบอ้วน น่ารับประทาน
ภาชนะเพาะทำหน้าที่รองรับเมล็ดถั่ว ป้องกันแสงสว่าง ปรับสภาพความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการงอก จำกัดขอบเขตการงอกของถั่ว ทำให้ถั่วงอกมีลักษณะลำต้นอวบสั้น ภาชนะเพาะควรมีปากแคบเพื่อจำกัดการงอกของถั่ว ภาชนะดินเผาจะเก็บความชื้นได้ดีกว่าภาชนะพลาสติก แต่ภาชนะพลาสติกคงทน น้ำหนักเบา ราคาถูก ทำความสะอาดง่าย
โดยปกติเมล็ดถั่ว 1 ส่วน จะโตเป็นถั่วงอกประมาณ 5 – 6 เท่า โดยน้ำหนัก ดังนั้น ขนาดของภาชนะควรจะพอเหมาะกับปริมาณของเมล็ดถั่วที่เพาะด้วย ภาชนะเพาะควรมีสีทึบเพื่อป้องกันแสงสว่าง หรือเป็นภาชนะที่มีฝาปิดภาชนะเพาะจะต้องมีรูระบายน้ำทั้งด้านล่าง และด้านข้างขนาดของจะต้องเล็กกว่าเมล็ดถั่วภาชนะเพาะจะต้องสะอาดเสมอควรล้างทำความสะอาด คว่ำตากแดดให้แห้งหรือลวกน้ำร้อนฆ่าเชื้อโรค แล้วผึ่งแห้ง หลังจากใช้งานแล้วทุกครั้ง
น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเพาะ อาจจะเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติ น้ำบาดาล หรือน้ำประปาที่สะอาดและมีอุณหภูมิปกติ เมล็ดถั่วจะต้องได้รับน้ำสะอาดและปริมาณที่พอเพียงสม่ำเสมอตลอดการเพาะ 2 – 3 วัน หากขาดน้ำจะทำให้การงอกชะงัก ไม่เติบโตสมบูรณ์
เพราะน้ำเป็นปัจจัยที่ทำให้ถั่วงอกเจริญเติบโต ระบายความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการงอก ความร้อนภายในภาชนะจะทำให้ถั่วเน่า ควรรดน้ำสะอาดสม่ำเสมอทุก 2 – 3 ชั่วโมง หากภาชนะเป็นพลาสติกและรดน้ำสะอาดทุก 3 – 4 ชั่วโมงหากภาชนะเป็นประเภทดินเผา
การรดน้ำจะรดจนกว่าน้ำที่ไหลออกจากภาชนะเพาะมีอุณหภูมิเท่ากับน้ำที่ใช้รดรดน้ำมากถั่วจะเน่าหากรดน้ำน้อยไปถั่วจะรากยาวแตกฝอยนอกจากนี้ควรตั้งภาชนะเพาะไว้ในที่แห้งระบายน้ำและอากาศได้ดี
วัสดุเพาะ อาจจะใช้วัสดุเพาะเพื่อช่วยเก็บความชื้น เพิ่มน้ำหนักกดทับทำให้ถั่วงอกอวบอ้วน วัสดุเพาะได้แก่ ทราย แกลบเผา ฟางข้าว ฟองน้ำ ฯลฯ การใช้วัสดุเพาะต้องอาศัยความชำนาญ
ภูมิอากาศ ฤดูฝน ฝนตกมาก ความชื้นในอากาศสูง ภาวะการเจริญเติบโตของถั่วจะช้าและเน่าง่าย ปริมาณน้ำที่ใช้รดก็จะน้อยลง
แสงสว่างทำให้ถั่วมีสีเขียว ลำต้นผอมยาว และมีกลิ่นถั่ว ดังนั้นภาชนะเพาะควรทึบแสง หรือมีสีดำ สีเขียว สีน้ำเงิน หรืออาจจะมีฝาปิด หรือตั้งภาชนะไว้ในที่มืด ไม่มีแสง
อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในกระถาง
1. กระถางดินเผา ใช้ขนาดตามปริมาณที่ต้องการเพาะ ขนาดของกระถางควรไม่เล็กเกินไป ขนาดที่ใช้เพาะแบบคอนโด 3 ชั้นมีขนาด 25 x 45 เซนติเมตร ทำการเจาะท่อด้านล่าง 1 จุดเพื่อให้ระบายน้ำออก
2. ตะแกรงรองพื้นก้นกระถาง จำนวน 1 อันต่อกระถาง ซึ่งใช้ตะแกรงโลหะขนาดรูตาใหญ่ ตัดหรือดัดให้พอดีกับก้นกระถางยกให้สูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อให้มีการระบายน้ำได้สะดวก (ตัวอย่าง ใช้ตะแกรงรองก้นหม้อกันร้อน)
3. ตะแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติกที่มีรูละเอียดมีขนาดของรู กว้าง x ยาว 4-5 มิลลิเมตรเท่านั้น หรือดูให้มีรูตาเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียวป้องกันการหลุดร่วง ตะแกรงชนิดนี้มีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้าง
เมื่อเมล็ดถั่วเขียวงอก ส่วนของรากจะแทงทะลุตะแกรงออกมา ส่วนของต้นจะตั้งตรง สะดวกต่อการตัดต้นถั่วงอกออกจากตะแกรง ในการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษต่อ 1 กระถาง จะใช้ตะแกรงรองพื้น 1 แผ่นและตะแกรงเกล็ดปลาจำนวน 5 แผ่น
4. กระสอบป่าน ประโยชน์ของการใช้กระสอบป่านหรือกระสอบข้าวเปลือก เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่วเขียวที่ทำการเพาะและสามารถซักทำความสะอาดได้หลายครั้งหลังจากเพาะถั่วงอกในแต่ละครั้งจะต้องตัดกระสอบป่านให้มีขนาดเท่ากับตะแกรงเกล็ดปลาและจะใช้จำนวน5ผืนต่อการเพาะถั่วงอก1กระถาง
5. ผ้าสักหลาดสีดำ หรือผ้าที่แสงสามารถส่องผ่านเข้าได้ยาก 1 ผืนติดกันเป็นผืนใหญ่เอาไว้คลุมหลังจากที่เพาะถั่วงอกเสร็จตามขั้นตอน
ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากในกระถาง
1. ขั้นตอนแรกให้ทำการแช่เมล็ดถั่วเขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญมาก เมื่อคัดเมล็ดที่แตก เมล็ดลีบหรือเมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลายออกด้วยมือแล้ว ให้นำมาล้างน้ำสะอาด 2-3 น้ำ ถ้าพบเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำขึ้นมาให้รินทิ้งไปพร้อมกับน้ำได้เลยเพราะเป็นเมล็ดที่ไม่งอก
ต่อมาให้เตรียมน้ำอุ่นสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียวในการเตรียมน้ำอุ่นให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็นธรรมดา 3 ส่วน ก่อนจะนำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่ในถังพลาสติกให้น้ำอุ่นท่วมเมล็ดสูงขึ้นมาสัก 1-2 นิ้ว แช่ไว้นาน 8 ชั่วโมง ประโยชน์ของการแช่เมล็ดในน้ำอุ่น จะช่วยให้ถั่วเขียวงอกได้เร็วขึ้น
** เมื่อแช่ครบ 8 ชั่วโมงแล้ว จะสังเกตเห็นเมล็ดถั่วเขียวพองตัวใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เท่า ซึ่งจะสังเกตได้จากเปลือกหุ้มเมล็ดที่ปริออก มีตุ่มรากงอกออกมาให้เห็น แล้วทำการรินน้ำที่แช่เมล็ดถั่วเขียวออกล้างเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาดอีก 3 น้ำ เพื่อมั่นใจในความสะอาด และมีส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วก็จะหลุดออกไปบางส่วน
2. เมื่อแช่เมล็ดถั่วเขียวครบ 8 ชั่วโมงแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเพาะ
3. ขั้นแรกนำตะแกรงโลหะที่เตรียมไว้วางเป็นฐานรองก้นกระถาง
4. วางตะแกรงเกล็ดปลาทับบนตะแกรงโลหะ
5. วางกระสอบป่านบนตะแกรงเกล็ดปลา
6. เมื่อวางกระสอบป่านแล้วให้โรยเมล็ดถั่วเขียวให้ทั่วตะแกรงเกล็ดปลา การโรยเมล็ดนั้นควรโรยให้มีความสูงประมาณ 1 เซนติเมตร หมดขั้นตอนนี้ถือว่าเสร็จชั้นที่ 1
7. เมื่อเสร็จชั้นที่ 1 แล้วให้นำตะแกรงเกล็ดปลาวางทับตามด้วยกระสอบป่าน 1 ผืน แล้วโรยเมล็ดอีกครั้ง ทำอย่างนี้อีก 2 ชั้น ให้ครบ 3 ชั้น
8. เมื่อครบ 3 ชั้นแล้ว ชั้นบนสุด ให้วางตะแกรงเกล็ดปลา และกระสอบป่าน 2 ผืน เพื่อเพิ่มการรักษาความชื้นให้กับเมล็ดถั่วเขียว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มบ่อ แล้วคลุมด้วยผ้าสักหลาดสีดำเพื่อไม่ให้แสงเข้าถึง
9. เมื่อทำครบทุกขั้นตอนแล้ว ให้รอเวลารดน้ำ ซึ่งการรดน้ำถั่วงอกนั้น ให้รดทุก ๆ 4 ชั่วโมง และควรเริ่มต้นในเวลาเดียวกับที่โรยเมล็ดถั่ว เช่น โรยเมล็ดถั่วตอน 8 โมงเช้า ก็ควรเริ่มต้นการรดน้ำที่ 8 โมงด้วยเช่นกัน
10. เมื่อครบ 3 วันแล้วก็สามารถนำแผงถั่วงอกที่เพาะออกมาตัดรับประทานได้เลย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : มติชนนออนไลน์
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น