มือใครยาวสาวได้สาวเอา! ประมงพื้นบ้าน จับแมงกะพรุนขาย รายได้วันละ 3,500 บาท
ชาวจีนนำแมงกะพรุนมาเป็นอาหารนานนับ 1,000 ปีแล้ว รวมถึง ปลิงทะเล ซึ่งคนไทยได้ยินแค่ชื่อก็ขยะแขยงแล้ว ไม่ต้องถึงขนาดเอามากิน แต่คนจีนเชื่อว่า แมงกะพรุน มีสรรพคุณทางยา สามารถใช้บำบัดอาการปวดกระเพาะหรือเป็นตะคริว
คนไทยบริโภคแมงกะพรุนเพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ใส่ในเย็นตาโฟ สำหรับคนชอบแซบจะเป็นเมนูยำ หรือลวกจิ้ม แต่ปัจจุบันในเย็นตาโฟเปลี่ยนจากแมงกะพรุนเป็นเห็ดหูหนูขาว เนื่องจากคุณสมบัติกรุบๆ คล้ายๆ กัน
นอกจากนี้ ชาวจีนยังเชื่อว่า แมงกะพรุน รักษาโรคเกาต์ เส้นเลือดอุดตัน ลดความดันโลหิต แก้หลอดลมอักเสบ ทำให้ผิวหนังนุ่มนวล และแมงกะพรุนถือเป็นหยาง อาหารที่ให้ความเย็น ซึ่งตรงข้ามกับหยิน
ในวงการโภชนาการปัจจุบัน ศึกษาพบว่า ในแมงกะพรุนมีโปรตีนประเภทคอลลาเจนสูง แต่มีไขมัน คอเลสเตอรอล และแคลอรีต่ำ เหมาะสำหรับเป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก ปัจจุบันมีการส่งออกแมงกะพรุนไปประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด
ตัวคอลลาเจนนี่สำคัญ เพราะเป็นเส้นใยโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูก เนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบ 30% ของร่างกาย และเป็นส่วนประกอบ 70% ของส่วนผิวหนัง และร่างกายจะผลิตคอลลาเจนลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากผิวหนังที่เหี่ยวย่น แมงกะพรุนมีคอลลาเจนมาก
จึงเหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบสกัดคอลลาเจน และคอลลาเจนที่สกัดได้จากแมงกะพรุนเป็นคอลลาเจนในกลุ่ม Type I คือชนิดที่พบได้ในผิวหนัง จึงเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์เพื่อการสมานแผล
หรือการนำไปเป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเจลาตินจากแมงกะพรุน สำหรับการผลิตหูฉลามเทียมได้ด้วย
แมงกะพรุนลอดช่อง
เริ่มเวลาปลายเดือนพฤษภาคมชาวประมงชายฝั่งแถบตำบลแหลมสักอ่าวน้ำอ่าวม่วง ท่าเลน คลองทราย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เริ่มเตรียมตัวที่จะออกไปตักแมงกะพรุน เนื่องจากในฤดูฝนนี้จะเป็นฤดูที่แมงกะพรุนเข้ามามากในอ่าว ชาวบ้านบอกว่า
แมงกะพรุนจะเริ่มเข้ามาในอ่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน รวมเวลาประมาณ 4 เดือน เพราะมีลมจากทะเลอันดามันทางทิศตะวันตกพัดเข้าหาฝั่ง ซึ่งชาวบ้านในละแวกนี้เรียกว่า ลมนอก จะพัดแมงกะพรุนเข้ามาในอ่าว
แมงกะพรุนที่ว่านี้ ชาวบ้านเรียกว่า แมงกะพรุนลอดช่อง ลักษณะเหมือนแมงกะพรุนทั่วไป คือมีหมวกกลม แต่หางค่อนข้างสั้น มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก 7-8 กิโลกรัม ต่อตัว ขนาดใหญ่เท่าๆ หมวกกันน็อก มีสีขาวใสเหมือนวุ้น หรือเป็นสีชมพูจางๆ
ทางแถบนี้จะไม่ค่อยพบแมงกะพรุนไฟ ซึ่งมีลักษณะหัวเป็นเหลี่ยม หางค่อนข้างยาว ประมาณ 1-2 เมตร แต่มีขนาดเล็กขนาดถ้วยกาแฟสีขาวใส ไม่มีสีชมพูจางๆ เหมือนแมงกะพรุนลอดช่อง
ช่วงที่ไปทำข่าวเดือนสิงหาคม ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่แมงกะพรุนมีจำนวนมาก ชาวบ้านที่ไปตักแมงกะพรุนจะออกไปในช่วงเช้า พอประมาณ 10 โมง หรือไม่เกินเที่ยง ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็จะได้แมงกะพรุนเต็มลำเรือ จึงจะเข้าฝั่งมาขายที่แพ ถ้าเป็นช่วงที่มีแมงกะพรุนน้อยๆ
เช่น ในช่วงแรกกับช่วงปลายก็จะออกไปตั้งแต่ตอนกลางคืน เพราะจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่าในการตัก เนื่องจากมีน้อย เรือก็จะติดโป๊ะไฟแสงสว่างเพื่อให้มองเห็นตัวแมงกะพรุน ถ้าเป็นคืนเดือนหงายก็จะมีทัศนวิสัยดีกว่า แต่ก็จะเข้าฝั่งมาขายที่แพในเวลาไม่เกินเที่ยงเช่นกัน เพราะช่วงเที่ยงถึงบ่ายอากาศจะร้อนมากเกินไป
เรือที่ใช้ตักแมงกะพรุนเป็นเรือตังเกที่ออกหาปลาตามชายฝั่งในบริเวณแถบจังหวัดกระบี่นี้ชาวบ้านเรียกว่า“เรือหัวโทง”เป็นเรือขนาดกลาง จะยาวประมาณ 12 เมตร กว้างประมาณ 2 เมตร ในการตักแมงกะพรุนจะต้องมีอย่างน้อย 2 คน
คนหนึ่งคือนายท้ายเรือ คนที่ 2 คือคนตัก ส่วนใหญ่จะเป็นสามีภรรยากัน สามีเป็นนายท้าย ภรรยาเป็นคนตัก ในช่วงที่แมงกะพรุนมีจำนวนมาก แต่ละฝูงจะมีบริเวณกว้างประมาณ 1 ไร่ และมีขนาดเท่ากันเกือบทั้งหมด ชาวประมงแทบจะไม่ต้องเลือกเลย
นอกจากตักอย่างเดียว ในบริเวณดังกล่าวจะมีเรือตักแมงกะพรุนประมาณ 30-40 ลำ คนตักก็ตักไป เหมือนกับแย่งกันตักแข่งกับเวลา ใครมือยาวสาวได้สาวเอา ตักไปหอบเหนื่อยไปก็มี ส่วนนายท้ายเรือต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เรือกระแทกกับลำอื่น ก็ได้แต่ส่งเสียงเชียร์
นอกจากนี้ ยังต้องคอยมองหาแหล่งที่แมงกะพรุนชุมแล้ว ก็ขับเรือไปตามแหล่งดังกล่าวแต่ก็จะวนเวียนในบริเวณเดียวกันนี้ บางครั้งก็เกิดการกระแทกกระทั้นกันเหมือนกันระหว่างเรือเพราะเหตุสุดวิสัย บางครั้งคนตักตกน้ำลงไปก็มี นี่จึงเป็นเหตุให้สกู๊ปเรื่องนี้ไม่มีภาพตอนตักให้เห็น เพราะว่าคนเขียนขออยู่บนฝั่งน่าจะสะดวกกว่านิ
เงินลอยน้ำ ตามใจตัก
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า สวิงที่ตักชาวบ้านทำกันเอง เพราะทำได้ไม่ยาก ไปซื้อเหล็ก เชือกไนล่อนมา แล้วก็ไปตัดไม้ไผ่เอามาทำกันเอง ความยาวของสวิงตัก ประมาณ 4-5 เมตร เพื่อให้สามารถเอื้อมไปตักได้ไกล คนตักแมงกะพรุนจะอยู่หัวเรือ เมื่อตักแล้วก็จะเหวี่ยงใส่ท้องเรือ
นับว่าเหนื่อยเอาการ เพราะแมงกะพรุนที่ตัก ตัวละ 7-8 กิโลกรัม เหมือนยกดัมเบลล์ยังไงยังงั้น สวิงที่ตักก็จะใช้ประจำเรือ จะมีอย่างน้อย 2 ปาก เนื่องจากบางครั้งสวิงตกน้ำหรือหักระหว่างทำงานบ้าง หรือบางครั้งคลื่นลมสงบและจำนวนเรือมีไม่มากนัก ก็จะแขวนใบพัดเพื่อไม่ให้เรือเคลื่อนที่ แล้วมาช่วยกันตักก็มี
ใครเต็มเรือก่อนก็เข้าฝั่งก่อน ใครยังไม่เต็มก็ลอยเรือตักจนเต็มจึงจะตามเข้าแพเพื่อขายให้กับคนรับซื้อเลย เรือโทงขนาดที่ว่าบรรจุแมงกะพรุนได้ถึง 700 ตัว คะเนว่าตัวละ 7 กิโลกรัม นับเป็นน้ำหนักถึง 5 ตัน ทีเดียว
แพที่รับซื้อแมงกะพรุนจะเป็นแพที่ทำขึ้นชั่วคราวตามฤดู พอหมดฤดูรับซื้อก็จะต้องรื้อออกจากหาดทันที จะเรียกว่าแพก็ใช่ที ที่จริงแล้วคือ การทำที่ลำเลียงคล้ายสายพานจากทะเลมาเข้าฝั่ง ยาวประมาณ 20-30 เมตร
โดยความสูงจะอยู่ในทะเล ส่วนทางฝั่งให้ลาดลงมา ปลายสายพานที่อยู่ในทะเลจะทำเป็นบ่อตาข่ายเพื่อรับแมงกะพรุนจากเรือ เมื่อเรือตักแมงกะพรุนมาก็จะจับขึ้นจากเรือทีละตัวลงในบ่อตาข่ายโดยนายท้ายเรือ คนงานของแพจะเป็นคนจดจำนวนตัว และออกบิลให้เจ้าของเรือไปรับเงินบนฝั่งทันที
สนนราคา ณ วันที่ไปทำข่าว ตัวละ 5 บาท แต่ชาวบ้านบอกว่าช่วงต้นฤดูได้ถึงตัวละ 10 บาท และราคาค่อยๆ ลดลงมา เนื่องจากปริมาณแมงกะพรุนมีจำนวนมากในกลางฤดู ถ้าเรือลำนี้ได้ 700 ตัว คูณ 5 บาท เป็นเงิน 3,500 บาท
ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่มากทีเดียว และในช่วงนี้จะจับได้ถึง 4 เดือน เป็นอันว่าชาวประมงมีความสุขกันทั่วหน้า แต่ก็ใช่จะจับได้วันละ 700 ตัว ทุกวันนะครับ ลืมบอกไปว่าเจ้าของหาด ที่ให้ทำแพรับซื้อแมงกะพรุนจะได้ส่วนแบ่งจากเจ้าของแพ ตัวละ 50 สตางค์ ฤดูหนึ่งๆ ทำรายได้ให้เจ้าของพื้นที่ไม่น้อยทีเดียว
การหมักแมงกะพรุน
เมื่อบ่อตาข่ายในทะเลมีจำนวนแมงกะพรุนที่รับซื้อเต็มบ่อก็จะชักรอกขึ้นบนสะพานที่ยื่นมาในทะเลแล้วเทแมงกะพรุนลงมาเพื่อให้ไหลเข้าไปยังฝั่งโดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องยนต์แต่อย่างใดเพราะความลาดชันของสะพาน และความเป็นเมือกลื่นของแมงกะพรุน
จะทำให้ไหลลงมาได้ง่าย โดยจะมีบ่อรับอยู่บนฝั่ง ถือเป็นบ่อแรกอยู่อย่างน้อย 4 บ่อ ขนาดประมาณ 3 คูณ 3 เมตร โดยใช้ผ้าพลาสติกมารองทำเป็นบ่อ ใช้ไม้ตีเป็นรูปสี่เหลี่ยม
ในบ่อแรกจะใส่เกลือ โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) และสารส้ม ดองแมงกะพรุนไม่เกิน 1 วัน แล้วก็จะนำมาใส่บ่อที่ 2 ในช่วงนี้ก็จะตัดส่วนหัวและส่วนหางออกแยกใส่บ่อ โดยแยกส่วนกันคนละบ่อ การตัดส่วนหัวและหางนี้จะจ้างคนงานตัดล้าง โดยคิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 40 บาท
เนื่องจากปริมาณแมงกะพรุนที่เข้ามาในแพมีจำนวนไม่แน่นอน คนงานจะต้องทำงานส่วนนี้จนเสร็จ จึงคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ส่วนคนงานชายจะคิดค่าแรง ชั่วโมงละ 50 บาท เนื่องจากเป็นงานแบกหาม เคลื่อนย้าย จึงคิดค่าแรงให้มากกว่า
บ่อที่ 2 เมื่อมีการแยกหัวหางออกคนละบ่อก็จะใส่เฉพาะเกลืออย่างเดียวและแมงกะพรุนจะย่อขนาดเล็กลง เมื่อมีการดองในบ่อที่ 2 ประมาณ 1 คืน ก็จะขูดทำความสะอาดอีกรอบด้วยแผ่นไม้ไผ่บางๆ นำมาใส่บ่อที่ 3 และจะใส่เพียงเกลืออย่างเดียวเช่นกัน ในบ่อนี้จะต้องใช้เวลา 1 วัน ก็ใช้ได้แล้ว
แต่เนื่องจากปริมาณไม่เพียงพอสำหรับรถบรรทุก 1 คัน จึงจำเป็นต้องรอ 2-3 วัน เพื่อให้มีปริมาณมากพอ จึงจะให้รถมารับไปส่งแพปลาที่จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นแพปลาแหล่งเดียวที่รับซื้อแมงกะพรุนเก็บไว้ในห้องเย็น ส่วนที่เป็นหัวจะเป็นส่วนที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนที่บริโภคในไทยจะเป็นส่วนหาง
แมงกะพรุน ปัจจุบันหาซื้อได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากคนมักจะไม่รู้จักวิธีปรุงอาหาร ถ้าได้กินส่วนใหญ่จะมาจากการที่เขาใส่เย็นตาโฟให้กิน แต่จริงแล้วสามารถนำมายำ ลวกจิ้ม หรือใส่บะหมี่สำเร็จรูปกินก็อร่อยได้ง่ายๆ แต่ควรที่จะล้างหลายๆ น้ำ และลวกน้ำเดือดก่อนนำมาปรุงอาหาร
จากคุณสมบัติของแมงกะพรุนตามธรรมชาติ น่าจะลองนำมาเป็นเมนูที่บ้าน ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวทะเลอย่าลืมซื้อแมงกะพรุนแห้งมาทำกินกันบ้าง อย่ามัวแต่ซื้อปลาเค็มอย่างเดียวเลยนิ
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : มติชนนออนไลน์, ข่าวสดฟาร์ม
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น