ไขความลับ 7.3 หมื่นปี! “หินหนัก 700 ตัน” เหาะขึ้นหน้าผาด้วย “มหาสึนามิ”
ดร.ริคาร์โด รามัลโญ ศาสตราจารย์จากภาควิชาธรณีศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ เชื่อว่าตนเองได้ข้อสรุปสำหรับเหตุการณ์เมื่อ 73,000 ปี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการมานาน หลังจากตรวจสอบหินขนาดมหึมา น้ำหนักราว 700 ตัน ก้อนหนึ่งในประเทศชิลี และพบว่าเป็นหินที่มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
รามัลโญ พบหินขนาดมหึมาก้อนนั้นระหว่างการเดินทางเยือนกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี เมื่อปี 2007 ตั้งอยู่บนริมหน้าผาสูงชันที่ตัดเป็นแนวดิ่งของที่ราบสูงในบริเวณดังกล่าว
ทีมวิจัยของรามัลโญพบในเวลาต่อมาว่าหินก้อนดังกล่าวเป็นหินจากท้องทะเลเก่าแก่ ผิดแผกแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับก้อนหินทั่วไปในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟอายุยังน้อย
ปัญหาก็คือหินขนาดใหญ่อย่างนั้นขึ้นไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร คำตอบของคำถามดังกล่าวนี่เองที่รามัลโญเชื่อว่าเป็นคำตอบที่ชี้ขาดข้อถกเถียงกันมาเกี่ยวกับเหตุการณ์เกิดสึนามิเมื่อ73,000ปีก่อน
ในช่วงเวลาดังกล่าวเชื่อกันว่าเกิดเหตุด้านข้างหรือพื้นที่ไหล่เขาของเกาะโฟโกถล่มลงสู่ท้องทะเล เกาะโฟโกเป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟและเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะเคปเวอร์เด ที่ตั้งอยู่ในท้องทะเลบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา การถล่มลงของด้านข้างของเกาะดังกล่าวทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นแน่
แต่ที่นักวิชาการถกเถียงกันมานานก็คือ สึนามิดังกล่าวมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าการถล่มดังกล่าวเกิดขึ้นแบบเดียวกับดินถล่ม คือค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดการถล่มลงมาครั้งใหญ่ครั้งเดียว
แบบแรกนั้นจะก่อให้เกิดสึนามิขนาดย่อม ความสูงของคลื่นราว 10-13 เมตร แต่เกิดขึ้นหลายระลอกต่อเนื่อง ส่วนแบบหลังนั้นก่อให้เกิดสิ่งที่นักวิชาการด้านธรณีศาสตร์เรียกว่า “เมกะสึนามิ” ที่มีพลังทำลายล้างสูง อิทธิพลของมันสามารถทำให้ภูเขาทั้งลูกขยับเคลื่อน และสามารถทำลายตึกระฟ้าได้ทันทีทันควัน
รามัลโญเชื่อว่า ก้อนหินมหึมาขนาด 700 ตันที่พบที่ชิลีคือข้อพิสูจน์ว่า เมื่อ 73,000 ปีก่อนหน้านี้เคยเกิด “มหาสึนามิ” ขึ้นมา
รามัลโญและทีมวิจัยใช้เวลานานตรวจสอบอายุของก้อนหินดังกล่าว แล้วเปรียบเทียบลักษณะของก้อนหินยักษ์ดังกล่าวกับหินในพื้นที่ใกล้เคียงพบว่า แหล่งที่มาของมันจริงๆ
นั้นเป็นหินจากพื้นที่ด้านล่างของหน้าผาสูงชันดังกล่าวซึ่งจมอยู่ใต้ทะเล มันเคยเป็นส่วนหนึ่งของด้านล่างหน้าผา แล้วถูกพลังมหาศาลกระชากหลุดออกจากหน้าผาด้านล่าง แล้วยกขึ้นมาทิ้งไว้บนที่ราบสูงเหนือหน้าผาสูงเกือบๆ 250 เมตร
ไม่มีพลังอย่างอื่นสามารถทำได้เช่นนั้นนอกเหนือจาก “มหาสึนามิ”
ข้อสรุปของทีมวิจัยของ ดร.รามัลโญยังคงได้รับการโต้แย้งจากนักวิชาการด้านนี้อีกส่วนหนึ่ง อย่างเช่น สถาบันธรณีศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา ยังเชื่อว่าการถล่มดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ หลายขั้นตอน และก่อให้เกิดสึนามิขนาดเล็กกว่ามาก แต่เกิดขึ้นหลายระลอกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดสึนามิขนาดย่อมหลายระลอก หรือเกิดมหาสึนามิขึ้นเมื่อ 73,000 ปีก่อนก็ตาม ดร.รามัลโญเตือนว่า เหตุการณ์ทำนองเดียวกันอาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก และในขณะที่ทั่วโลกมีเมืองใหญ่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสึนามิจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด
และแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถศึกษารอยแยกของแผ่นเปลือกโลกที่อาจเคลื่อนที่ก่อให้เกิดสึนามิได้แบบเดียวกับที่ศึกษาแผ่นดินไหวแต่ก็ยังยากที่จะคาดการณ์ถึงทิศทางของสึนามิที่เกิดขึ้นอยู่ดี
ทางที่ดีคือการคิดอย่างใจเย็นและมีเหตุมีผลว่ามีหนทางใดบ้างที่สามารถทำเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์เช่นนี้ลงให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : มติชนออนไลน์
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น