ปลูกผักอินทรีย์บนดาดฟ้า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อีกแล้ว!
ปัจจุบัน พืชผักที่ถูกปลูกในพื้นที่จำกัด เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว คอนโดมิเนียม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อีกแล้ว เรามีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ข้ออ้างมีพื้นที่จำกัด อ้างแล้วฟังไม่ค่อยขึ้น การปลูกพืชในพื้นที่แบบนี้ อยู่ที่ใจอยากจะปลูกมากกว่า ที่เคยเห็นบ้านตามในเมืองสำหรับคนที่อยากจะปลูกจริงๆ กะละมังแตกๆ ถังเก่าๆ วางไว้หน้าบ้านบ้าง ข้างบ้านบ้าง ก็มีปลูกกะเพรา โหระพา ให้เห็นจนชินตา เราจะเรียกผักเหล่านี้ว่า ผักอินทรีย์ ก็ไม่ครบองค์ประกอบ เรียกว่า ผักปลอดสาร ก็น่าจะได้
สำหรับที่อาศัยที่มีที่ดินอยู่ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ มีโอกาสที่จะทำแปลงผักเล็กๆ โดยใช้อิฐบล็อกฝังลงในดิน ประมาณ 1 ใน 3 ของก้อน จัดให้เป็นระเบียบจะเพิ่มความสวยงามของแปลงกลายเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับแทนก็ได้ อย่าไปหวังว่าเราจะปลูกเพื่อทดแทนการซื้อผักมาประกอบอาหารกินทั้งหมด
เพียงแต่หวังให้เป็นงานของคนทั้งครอบครัวมาร่วมสันทนาการกันดีกว่า และอีกอย่างหนึ่งเราจะได้ผักที่ปลอดสารพิษจริงๆ ที่ปลูกกับมือเรานำมาประกอบอาหารกิน แม้ใน 7 วัน รวม 21 มื้อ อาจจะมีสักมื้อที่นำผักที่ปลูกในรั้วบ้านมาทำกินกันก็ยังดี เขียนถึงตอนนี้ได้ยินเสียงคนตามบ้านที่มีผักข้างบ้านไว้กินเองแอบหัวเราะคิกคักแบบสงสารคนเมือง
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนวิชาสาขาเกษตรศาสตร์อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี เป็นอาจารย์ประจำสาขาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
เนื่องจากการเรียนการสอนวิชาปฐพีวิทยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับดินและการใช้ปุ๋ย จึงจำเป็นต้องมีแปลงงาน แต่เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้ต้องไปทำกิจกรรมบนดาดฟ้าของตึกแทน โดยแบ่งเป็นแปลงที่มีขนาด 1 คูณ 3 เมตร จำนวน 13 แปลง โดยให้โจทย์ว่า คิดเอาเองว่าจะปลูกอะไร ที่เป็นเกษตรอินทรีย์ คิดต้นทุน และจำหน่ายให้ได้ คิดเป็นกำไรขาดทุน
สำรวจพื้นที่ปลูก
สิ่งแรกที่อาจารย์เกศศิรินทร์ให้คำนึงถึงก่อนที่จะปลูก ต้องสำรวจก่อนว่าบริเวณบ้านเรามีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด เพราะคนในเมืองจะอาศัยทั้งบ้านเดี่ยว ตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม ซึ่งมีขนาดพื้นที่แตกต่างกัน สำหรับบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์มีพื้นที่ดินบริเวณหน้าบ้าน ข้างบ้านและหลังบ้านสำหรับใช้ทำแปลงปลูกขนาดเล็กหรือปลูกในกระถาง หรือกระบะหรือทำเป็นไม้แขวนริมรั้ว
ส่วนตึกแถวอาจปรับพื้นที่บนดาดฟ้าเพื่อทำเป็นแปลงผักสวนครัวด้วยการทำแปลงปลูกอย่างง่าย หรือทำเป็นซุ้มผักที่เป็นไม้เลื้อย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ควรตรวจดูโครงสร้างของอาคารว่าสามารถรองรับน้ำหนักของวัสดุได้หรือไม่ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ความชื้น เราอาจจำเป็นต้องใช้น้ำยากันซึม เพื่อป้องกันน้ำซึมลงด้านล่าง และอีกประการหนึ่งคือ
การระบายน้ำส่วนเกินความต้องการ เพราะพืชหลายชนิดไม่เหมาะกับน้ำขัง ส่วนคอนโดมิเนียมจะมีพื้นที่ว่างตรงระเบียง ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกผักในกระถาง หรือแขวนไว้กับระเบียง แต่สิ่งที่ต้องควรคำนึงคือ พัดลมแอร์ ควรหาตะแกรงลวดหรือไม้ระแนง มาปิดพัดลมไว้ เพื่อป้องกันความร้อนและลมจากแอร์หรือหลีกเลี่ยงพื้นที่ส่วนนี้ พื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดควรจะเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องอย่างน้อยครึ่งวัน
จัดการดินให้เหมาะสม
ส่วนสำคัญประการที่สองคือ ดิน สำหรับดินที่อยู่บริเวณข้างบ้าน หลังบ้าน หน้าบ้าน ของบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ในเมืองส่วนใหญ่จะเป็นดินที่นำมาจากบ่อดินมาถมพื้นที่เพื่อสร้างบ้าน เพราะฉะนั้นดินดังกล่าวจะเป็นดินชั้นล่างที่ขุดขึ้นมา ไม่ใช่หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับพืช เพราะดินจำเป็นต่อการผลิตพืชอย่างมาก ถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการปลูกพืช ดินที่เกิดจากการผุพังของหินและแร่ที่กลายเป็นอนุภาคเล็กๆ
เมื่อรวมกับอินทรียวัตถุที่ย่อยสลายและคลุกเคล้ากันอย่างดีจะกลายเป็นดินที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับพืช ถ้าพื้นที่มีลักษณะของดินแน่นเหนียวหรือเป็นทราย ควรปรับสภาพของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แกลบดิบ เศษใบไม้แห้ง ขี้เถ้า เป็นต้น เพื่อให้ดินมีความร่วนซุยขึ้น ระบายน้ำและอากาศดีขึ้น และยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน ทำให้รากพืชสามารถชอนไชลงไปในดินได้ดี ส่วนใหญ่การปลูกพืชในเมืองมักใช้ดินพร้อมปลูกซึ่งก็สามารถนำมาใช้ได้
ปลูกพืชให้เหมาะสมกับแสง
เราควรสังเกตทิศทางของแสงแดดของวันเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแปลนของสวนและใช้ประกอบการเลือกพืชแปลงผักซึ่งเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก ควรจัดทำแปลงให้ยาวไปทางทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้พืชได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน แต่ถ้าทำแปลงในทิศตะวันออก-ตะวันตก พืชที่อยู่ตรงกลางจะไม่ได้รับแสงแดด แต่ถ้าปลูกในกระถาง ควรวางในพื้นที่ที่ได้รับแสงส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน
เพื่อให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ ถ้าทำสวนบนดาดฟ้า เรื่องแสงแดดมักไม่มีปัญหา แต่จะพบปัญหาแสงแดดแรงจัดมากเกินไป เพราะนอกจากความร้อนจากแสงแดดแล้ว ยังจะได้รับความร้อนจากตัวตึก ดังนั้น ควรมีการพรางแสงแก่ผักที่ยังเล็ก และน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของพืช ถ้าปลูกพืชในบ้าน อาจใช้น้ำประปาหรือรองน้ำฝนไว้ใช้ ที่สำคัญแหล่งน้ำควรอยู่ใกล้กับแปลงปลูกหรือกระถางปลูก เพื่อสะดวกในการรดน้ำ แต่ถ้าอยู่ไกลควรต่อสายยางให้มีระยะเพียงพอกับการใช้งาน
พืชที่ปลูก
สิ่งที่สำคัญในการเลือกพืชที่จะปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ควรเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองหรือพันธุ์ผสมเปิดที่แข็งแรงทนทานเพราะสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ เพื่อนำมาปลูกครั้งต่อไปได้ และหลีกเลี่ยงเมล็ดพันธุ์การค้า ที่บางพันธุ์มีการตัดต่อพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ (GMO) เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะให้ผลผลิตดีในการปลูกครั้งแรก พอเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อจะนำมาปลูกครั้งต่อไป ผลผลิตที่ได้จะไม่ดีดังเดิม หรือมีเมล็ดไม่สมบูรณ์
สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผักไว้กินเองนั้น ควรสอบถามจากคนในบ้านว่าชอบกินผักชนิดไหน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในบ้าน และผักสวนครัวที่ใช้ประกอบอาหารกันบ่อยๆ ได้แก่ กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ผักชี ผักชีฝรั่ง พริก ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว
ผักพวกนี้เป็นพืชที่ดูแลง่าย และเหมาะสมกับทุกสภาพพื้นที่ การปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ควรปลูกพืชให้ผสมผสานกัน มีความหลากหลาย หมุนเวียนกันและมีประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในพื้นที่เดียวกันหรือแปลงเดียวกัน มีการปลูกผักหลายชนิดที่มีประโยชน์เกื้อกูลกัน เช่น ผักคะน้า ผักสลัด แซมด้วยผักชี ต้นหอม จะช่วยไล่แมลงได้ เพราะมีกลิ่นฉุน เป็นต้น
การปลูกพืชผักหมุนเวียนกันในพื้นที่เดียวกันคือ การปลูกผักพร้อมๆ กันทั้ง 4 ประเภท ดังนี้
1. ผักกินใบ : คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักบุ้ง ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย
2. ผักกินหัวและราก : หัวไชเท้า แครอต บีทรูท มันเทศ
3. ผักกินผล : มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือเทศ แตงกวา แตงร้าน บวบเหลี่ยม บวบหอม ฟักเขียว ฟักทอง กระเจี๊ยบเขียว
4. พืชตระกูลถั่ว : ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง
ในการปลูกนั้น ควรแบ่งปลูกเป็นแปลงย่อย 4 ประเภท และหมุนเวียนสลับพื้นที่กัน เพราะผักแต่ละประเภทจะมีความยาวของรากที่แตกต่างกัน ทำให้ดูดซึมธาตุอาหารจากดินในระดับที่ต่างกัน วิธีการปลูกพืชแบบนี้จะเป็นการรักษาดิน ไม่ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เพราะมีการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน และทำให้ดินมีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชหมุนเวียนยังช่วยป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี
เนื่องจากเป็นวิชาเกี่ยวกับดิน อาจารย์เกศศิรินทร์จึงให้เน้นการใช้วัสดุปลูกที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดและที่สำคัญอีกอย่างคือ การปลูกพืชทั้งหมดบนดาดฟ้าจะต้องเป็นพืชอินทรีย์เท่านั้น
เนื่องจากเราไม่ต้องมาเสี่ยงรับสารพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการใช้พื้นที่จำกัดในการปลูกจะจัดการวัสดุปลูกให้ดีง่ายกว่าพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ทดลองปลูกกันเถอะครับ อย่างนี้ก็มีความภูมิใจในผลผลิตของเราเอง
สิ่งที่ได้รับในการทำแปลงปลูกบนดาดฟ้า คือ บนดาดฟ้าชั้น 4 ไม่มีแมลงมาคอยกวนใจ และอีกประการหนึ่งการจัดการดินที่ดีทำให้ปราศจากโรครากเน่า ในช่วงที่มีผักบนดาดฟ้าจะมีผู้สนใจมาแวะชมไม่ขาดสาย เพราะถือเป็นแหล่งเรียนรู้จากของจริง
ปัจจุบัน มหาวิทยาราชภัฏพระนคร มีงานบริการวิชาการเป็นการอบรมหัวข้อ เกษตรอินทรีย์วิถีคนเมือง ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 ประมาณเดือนพฤษภาคม แต่ละครั้งจะรับผู้สนใจครั้งละ 50 ท่าน สนใจติดต่อ อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี โทรศัพท์ (094) 239-4263
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ : มติชนออนไลน์
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น