เกษตรกร จ.นครปฐม ปลูกโหระพา พืชสวนครัว ลงทุนน้อย รายได้ดี วันละ 800 บาท
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การทำเกษตรกรรมนาข้าว ชาวนาต้องลงทุนมากในทุก ๆ ด้านตั้งแต่ที่ดินที่มีขนาดกว้างใหญ่ การเตรียมดิน เพาะกล้าปักดำ การบำรุงดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยวต้องใช้แรงงาน เงินทุน และระยะเวลาตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว 1 รอบราว 5 เดือน
ขณะที่ผลตอบแทนที่เป็นรายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเกือบจะไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว บางครั้งขาดทุนเสียด้วยซ้ำไป ชาวนาจึงเป็นหนี้สะสม เนื่องจากราคาข้าวผันแปรตามสภาวะตลาดโลก ประกอบกับภัยแล้ง และโรคพืชระบาด
ทำให้ผลผลิตเสียหายราคาข้าวตกซ้ำเติมอีก ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรนาข้าวจำเป็นต้องทำการเกษตรผสมผสานเพียงเพื่อให้เกิดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างเพียงพอ เหลือเก็บเพื่อความมั่นคงของครอบครัว
คุณมณี ศรีพัฒน์อินทร์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 4 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม (โทร. 082-794-3422) เกษตรกรนาข้าว เผยให้เกษตรกรก้าวหน้าฟังว่า
แต่ก่อนก็ทำนาตั้งแต่สมัยสาว ๆ มีพืชสวนพืชไร่แซมบ้างก็ไว้ใช้กินในครอบครัว แต่ก่อนถนนหนทางไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ จะไปในตัวเมืองหรือจะเข้ากรุงเทพทีกลายเป็นเรื่องใหญ่
อาหารการกินก็ต้องหากินกันเองในนาในไร่ รวมทั้งในหนองคลองบึง ต้องพึ่งพาตัวเองตลอด ต่อมามีการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น ก็ยังทำไร่ทำนาเหมือนเดิม
โดยทำนาข้าวเป็นหลักได้ผลดีบ้างไม่ดีบ้าง บางปีราคาดี บางปีก็ราคาตกต่ำ แต่ก็ยังต้องทำอยู่เพราะเป็นรายได้หลักถึงจะตกต่ำไปบ้างแต่ก็ทำ จนกระทั่งปี 2547-2550 ราคาข้าวไม่แน่นอนอีกเช่นกัน
คุณมณีคิดอยากจะหารายได้เสริมจากนาข้าวที่ทำอยู่ เนื่องจากรายได้จากนาข้าวไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว อีกทั้งสภาวะค่าครองชีพเริ่มสูงขึ้น แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ปี 2550
จึงคิดอยากจะหารายได้จากการว่างงานช่วงว่างเว้นจากงานนาข้าว จึงไปเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานผักตบชวา แรก ๆ ก็ดีพอมีรายได้ใช้จ่ายบ้างแต่ต่อมากลับไม่ค่อยจะตรงต่อเวลา
เป็นต้นว่าส่งงานไปแล้วได้เงินช้าบางครั้งนานเป็นเดือน เลยทำให้เบื่อ และก็คิดอยากจะปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัว เพราะมีเพื่อนบ้านหลายรายปลูกกันมากเนื่องจากมีคนมารับซื้อถึงที่ ราคาดีเหลือกินเหลือใช้ได้
ดังนั้น จึงตัดสินใจปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งพืชกินดอก กินใบ และกินผล ครั้งแรกลงแคในพื้นที่ 2 ไร่เศษ ลงครั้งแรกราว 150 ต้น ไม่นานก็เก็บดอกขายได้ วันละไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม ราคาส่งกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 15 บาท ราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแต่ไม่ต่ำกว่า 15 บาท
ดังนั้นจึงมีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 600-800 บาท พื้นที่ ๆ เหลือก็จะลงพริก มะเขือ แตงกวา แซม ๆ บ้าง ก็พอมีรายได้เพิ่มอีก 200 บาท เป็นอย่างน้อย เนื่องจากยังไม่ได้เป็นตัวหลักเหมือนกับแค พืชอายุสั้นเหล่านี้ก็หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ดินจืดไปกับพืชซ้ำ ๆ กันนาน
ขณะเดียวกันนาข้าวก็ยังทำอยู่ ปลูกแคเก็บดอกขายดี ๆ อยู่ ปี 2554 น้ำท่วมบนที่ทำกิน แคและพืชไร่อื่น ๆ เสียหายหมด ต้องกลับมาฟื้นพื้นที่ใหม่
หลังน้ำท่วมก็ยังคงปลูกแคเหมือนเดิมแต่ลดจำนวนลง เพื่อปลูกพืชไร่อย่างอื่น เริ่มจาก ฟักเขียว พอหมดอายุก็เปลี่ยนเป็นมะระ แตงกวา พริก มะเขือ โดยปลูกรวม ๆ กันจะมีตัวหลักอยู่ หนึ่งหรือสองชนิด ที่เหลือปลูกแซม ๆ เพราะมีตลาดหรือผู้รับซื้อคอยส่งข่าวหรือให้ข้อมูลล่วงหน้าว่าอนาคตต้องการพืชผักอะไร ก็จะคอยพิจารณาและเตรียมพร้อมเสมอ
ปัจจุบันมีรายได้จากการปลูกโหระพา เนื่องจากราคาดีปลูกง่ายขายคล่องเก็บขายได้ทั้งปีราคาดีไม่มีตก มารู้จักโหระพาพืชผักที่มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรกันก่อน
โหระพา ชื่อสามัญ Sweet Basil ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum Linn โหระพาเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลักษณะเป็นพุ่มมีความสูงราว 20-70 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทั้งลำต้น ดอก และใบ ลำต้น เป็นเหลี่ยมไม่เสมอกัน กิ่งก้านมีสีเขียวอมม่วงใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามมีขนอ่อนปกคลุม ขอบใบหยักเล็กน้อย ปลายใบแหลมลักษณะรี ดอกออกเป็นชั้นยอด ดอกมีทั้งสีขาว สีแดงม่วงอ่อน
โหระพาเป็นทั้งพืชผักพืชสมุนไพร คนไทยนิยมรับประทานเป็นผักเคียงกับอาหารประเภทยำหรือพล่า หรือแม้แต่ใส่ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ด้วยเหตุนี้ในครัวไทยจึงขาดโหระพาไม่ได้ นอกจากนี้โหระพายังเป็นพืชสมุนไพรกล่าวคือ ให้คุณสมบัติเป็นยาธาตุขับลม รับประทานแล้วเจริญอาหาร ขับเหงื่อและเสมหะเนื่องจากให้รสเผ็ดร้อนบาง ๆ เป็นยาระบายอ่อน ๆ กรณีท้องผูก ใบใช้ชงเป็นชาดื่มช่วยขับลม ช่วยให้ลมหายใจสะอาด ล้างพิษให้ออกมาทางเหงื่อ และเสมหะ
คุณสมบัติที่เป็นสมุนไพรมีรายละเอียดอีกมาก เอาเป็นว่า ‘‘โหระพา’’ พืชผัก สมุนไพรไทยที่ยังมีอนาคตราคาไม่ตกใช้พื้นที่น้อยแต่สร้างรายได้มากเมื่อเทียบพื้นที่กับพืชหลักชนิดอื่นอย่างเช่นนาข้าวโหระพาเป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยปลูกได้โดยตัดกิ่งปักชำหรือเพาะเมล็ดทิ้งช่วงห่างของต้นราว50เซนติเมตรใช้เวลาปลูกไม่นานราวเดือนครึ่งก็ตัดเก็บได้โดยตัดจากกิ่งย่อยต้นจะแตกกิ่งออกใหม่ในเวลาไม่นานยิ่งตัดยิ่งแตก การดูแลรักษาให้ใช้ปุ๋ยคอกโรยรอบต้นเดือนละครั้ง รดน้ำให้ชุ่ม
ในพื้นที่ 50 ตารางวา สามารถเก็บโหระพาได้ถึงครั้งละ 150 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 15 บาท บางครั้งขึ้นถึง 20 บาท ในแต่ละวันคุณมณีเก็บโหระพาแล้วจัดเป็นกำ รวมน้ำหนักวันละ 40 กิโลกรัมในพื้นที่ไร่เศษ ๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนเก็บไปแต่ละส่วนในรอบสิบวันก็กลับมาเก็บที่เดิมได้
ช่วงปลายฝนต้นหนาว ต้องระวังเนื่องจากอากาศจะแห้งใบเริ่มเหี่ยวและมีแมลงรบกวน ต้องหมั่นรดน้ำให้ชุ่มชื้นและดูแลแมลงด้วยน้ำหมักชีวภาพถ้าแมลงกวนมากๆจะใช้เคมีช่วยบ้างก็ได้เพียงแต่ต้องผสมผสานตามข้อกำหนดหรือเจือจางกว่าที่กำหนดเพราะแมลงกินใบจะไม่ชอบกลิ่นฉีดพ่นครั้งหนึ่งคุ้มกันได้นาน
นอกจากโหระพาจะเป็นพืชรองตัวหลักในพื้นที่2ไร่ครึ่งแล้วยังมีแคและมะระขี้นกเก็บเป็นรายได้เสริมอีกต่อหนึ่งเนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มากกรณีของมะระขี้นกเมื่อต้นขึ้นดีแล้วก็ทำร้านหรือเล้าให้เลื้อยเป็นแนวยาวถ้าใช้พื้นที่ราว5แปลงยาวแปลงละ 20-25 เมตรหรือแล้วแต่พื้นที่ เก็บผลมะระได้วันละไม่ต่ำกว่า 5-10 กิโลกรัม ทำเงินให้อีกอย่างน้อยวันละ 150-200 บาท
คุณมณีได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกวันนี้ก็ยังปลูกข้าวอยู่แม้จะมีรายได้จากการขายข้าวแต่ไม่พอต่อการยังชีพแถมยังเสี่ยงกับการขาดทุน จึงต้องหันมาปลูกพืชผสมผสานมีพืชตัวหลัก ตัวรองในพื้นที่ขนาดย่อม และใช้เวลาไม่นานก็เก็บผลผลิตได้สร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 25,000-28,000 บาท
คิดรายได้ต่อพื้นที่ทำกินและระยะเวลาเมื่อเทียบกับนาข้าว เกษตรผสมผสานใช้พื้นที่น้อยกว่า ลงทุนและระยะเวลาน้อยกว่าแต่สร้างรายได้มากกว่า เกษตรกรจึงน่ารับไว้พิจารณาเพราะสร้างรายได้ได้อย่างมั่นคง ถ้าคิดไม่ออกลองดูพื้นที่ว่างเปล่าข้าง ๆ บ้านก็ได้”
ขอขอบคุณข้อมูล : มติชนออนไลน์, เกษตรก้าวหน้า
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น