ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ คืออะไร ต้องระบุข้อมูล อะไรไว้บ้าง ?
ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เรื่องที่คนซื้อของลดหย่อนภาษี 2558 ต้องรู้ เพื่อให้การช้อปปิ้งส่งท้ายปลายปี ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เอาใจนักช้อปอีกครั้งกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายส่งท้ายปลายปีที่รัฐบาลผุดไอเดียขึ้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าในระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 จากผู้ประกอบการกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท มายื่นลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาปี 2558 ยกเว้นการซื้อสินค้าจำพวกสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
อย่างไรก็ตามในการซื้อสินค้าหรือรับบริการต้องมีหลักฐานการเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีลักษณะแบบไหน ต้องระบุข้อมูลอะไรบ้าง เพราะปกติเวลาเราซื้อของจะได้รับเพียงใบกำกับภาษีอย่างย่อเท่านั้น กระปุกดอทคอมจึงสืบค้นข้อมูลจากกรมสรรพากรมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ
สำหรับใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ตาม ม.86/4 แห่ง ป.รัษฎากร ระบุว่าต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้รายการในใบกำกับภาษีต้องเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
นอกจากนี้ ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้ เว้นแต่อธิบดีจะได้กำหนดให้การออกใบกำกับภาษีสำหรับสินค้าหรือบริการบางอย่างหรือหลายอย่างต้องกระทำแยกต่างหาก โดยมิให้รวมไว้ในใบกำกับภาษีเดียวกันกับรายการอื่น
ภาพจาก วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Kapook.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น