homenayoo

คำนวณหักภาษี “เงินเดือน” เรื่องง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้!!!

โพสโดย : pure / วันที่ : 1 December 2015

คำนวณหักภาษี “เงินเดือน” เรื่องง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้!!!

TAX_2

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ซึ่งบุคคลที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คือ บุคคลที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้หากเป็นพนักงานบริษัท ในแต่ละเดือนก็อาจจะถูกบริษัทหักภาษีส่วนนี้ไว้ ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่าเขามีวิธีคิดคำนวณอย่างไร มาดูวิธีคำนวณง่าย ๆ ด้วยตัวเองตามข้อมูลข้างล่างนี้

สำหรับวิธีการคำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตรของกรมสรรพากร มีดังนี้

1. ให้คำนวณหาจำนวน เงินได้พึงประเมิน* ทั้งปี โดยมีวิธีการคือ ให้นำเงินได้พึงประเมินไปคูณด้วยจำนวนครั้งที่นายจ้างจ่ายเงินเราต่อปี ดังนี้

ก. หากคุณได้ค่าจ้างเป็นรายเดือนให้คูณด้วย 12

ข. หากคุณได้ค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ให้คูณด้วย 24

ค. หากคุณได้ค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ให้คูณด้วย 52

เช่น นายสมชาย ได้รับเงินเดือนจากบริษัทที่ว่าจ้างเดือนละ 25,000 บาท (เงินได้พึงประเมิน) ดังนั้น เงินได้พึงประเมินทั้งปีของนายสมชาย จะเท่ากับ 25,000 x 12 = 300,000 บาท

*เงินได้พึงประเมิน คือ รายได้ที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นรายเดือน, เดือนละ 2 ครั้ง, หรือรายสัปดาห์

**สำหรับเงินรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษี (ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี) เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ เป็นต้น ส่วนจะมีรายได้อะไรบ้างที่ได้รับการยกเว้น ดูเพิ่มเติมได้จากกรมสรรพากร

***การจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งเข้าทำงานระหว่างปี ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่ละคราวในปีที่เข้าทำงานด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายจริงสำหรับปีนั้น

เช่น เข้าทำงานวันที่ 1 เมษายน และกำหนดจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน จำนวนคราวที่จะต้องจ่ายสำหรับปีที่เข้าทำงานจะเท่ากับ 9 (ตั้งแต่ เมษายน – ธันวาคม = 9)

2. ให้นำจำนวนเงินได้พึงประเมินที่คำนวณได้ตามข้อ 1 มาหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน และคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา

ตรงนี้แหละครับที่แต่ละคนจะได้สิทธิ์ลดหย่อนแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าใครจะได้สิทธิมาก-น้อยกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่ามีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งรายการสิทธิหักลดหย่อนภาษีสามารถดูได้จากได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร และความรู้เรื่องภาษี

สำหรับการคำนวณหักค่าลดหย่อน ให้คำนวณตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้พร้อมกับแนบสำเนาหลักฐานแสดงสิทธิในค่าลดหย่อนตามแบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน (ล.ย01)

ทั้งนี้ ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่เริ่มหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะจ่ายค่าลดหย่อนนั้นในเดือนใดของปีก็ตาม

เว้นแต่ค่าลดหย่อนเงินบริจาคให้คำนวณหักได้เมื่อมีการจ่ายเงินบริจาคจริงเท่านั้น และกรณีผู้มีเงินได้ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการค่าลดหย่อนระหว่างปี ให้คำนวณหักค่าลดหย่อนตามที่ผู้มีเงินได้ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงนั้น

3. ให้นำจำนวนเงินภาษีทั้งสิ้นที่คำนวณได้ตาม (2) มาหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย (ต่อปี) ตาม (1) ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษี ณ ที่จ่าย ในแต่ละคราวที่จ่ายเงินนั้น

ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวไม่ลงตัวเหลือเศษเท่าใด ให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียทั้งปี

ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายสมชายได้รับเงินเดือนเดือนละ 25,000 บาท

เงินได้พึงประเมินทั้งปีของนายสมชาย เท่ากับ 25,000 x 12 = 300,000 บาท

หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท

หักค่าลดหย่อนส่วนตัว (ได้อยู่แล้ว) 30,000 บาท

หักค่าประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท

(ประกันสังคมคิดในอัตรา 5% ของเงินเดือน ทุกเดือน) (25,000 x 5/100) x 12 = 15,000 แต่กฎหมายให้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

เงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี เท่ากับ 300,000 – 60,000 – 30,000 – 9,000 = 201,000 บาท

แต่ทั้งนี้กฏหมายได้กำหนดให้เงินได้ตั้งแต่ 0-150,000 ได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้น 150,000 บาทแรกของนายสมชายจะไม่เสียภาษี แต่ส่วนที่เกินมาจาก 150,000 บาท นั่นก็คือ (201,000-150,000=51,000) ต้องเสียภาษี

เข้าเกณฑ์เงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,001-300,000 ต้องเสียภาษี 5% ดังนั้น นายสมชายจะต้องเสียภาษีปีละ 51,000 x 5/100 = 2,550 บาท หรือตกเดือนละ 2,550/12 = 212.50 บาท

*ตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้มีรายได้ต้องเสียสามารถดูได้จากกรมสรรพากร

หมายเหตุ ข้อมูลต่าง ๆ อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

หลังจากที่ได้ทราบวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันไปแล้ว หลายคนก็จะได้รู้กันเสียทีว่าในแต่ละปีที่กรมสรรพากรมาเก็บภาษีเราไปนั้นเขามีวิธีการคิดคำนวณอย่างไรและถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้หากคำนวณแล้วพบว่าไม่ตรงกับที่กรมสรรพากรคำนวณ สาเหตุอาจจะมาจากการที่เรายื่นแบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนเพิ่มเติม ทำให้ทางกรมฯ ยังคำนวณภาษีในอัตราและเงื่อนไขเดิม เราสามารถแจ้งขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ที่กรมสรรพากร

ขอขอบคุณข้อมูล : Kapook.com


สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม  086-1290293 
LINE ID : 123456786205
Email : wanchalearm.t@gmail.com
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " คำนวณหักภาษี “เงินเดือน” เรื่องง่าย ๆ ที่คุณก็ทำได้!!! "

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.