ยังไปได้สวย! กุยช่าย ผักเงินล้าน ปลูกได้เรื่อยๆ ตลาดยังไม่ตัน รับชื้อ กก.ละ 150 บาท
อาชีพการปลูกผักเป็นอีกหนึ่งอาชีพเกษตรที่น่าสนใจ ยิ่งมีการวางแผนจัดการที่ดีด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นอาชีพที่ทำเงิน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว และหนึ่งในบรรดาผักทำเงินนั้น คงต้องยกให้ “กุยช่าย” เพราะผักชนิดนี้สร้างคนให้กลายเป็นเศรษฐีมาแล้วนักต่อนัก
เกษตรกรบางรายปลูกกุยช่ายขายเพียงอย่างเดียวก็สามารถก่อร่างสร้างตัวได้ภายในไม่กี่ปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะราคาผักกุยช่ายเป็นราคาที่ค่อนข้างนิ่ง ไม่ผันผวนขึ้นสูงลงต่ำเช่นผักชนิดอื่น อีกทั้งต้นทุนการผลิตผักกุยช่ายค่อนข้างสูงจึงเป็นข้อจำกัดให้มีการผลิตกุยช่ายเป็นผักเศรษฐกิจอย่างจริง ๆ จัง ๆ กันน้อยราย ถ้าเทียบกับความต้องการบริโภคก็ถือว่า ณ ปัจจุบันนี้ เกษตรกรยังไม่สามารถผลิตกุยช่ายขายได้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เราจึงยังเห็นราคากุยช่ายขาวในท้องตลาดไม่เคยต่ำกว่ากิโลกรัมละ 150 บาท
เราไปตะลุยชมแหล่งผลิตกุยช่ายเงินล้าน จากดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีการปลูกกุยช่ายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ นั่นก็คือ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอำเภอแห่งนี้มีเกษตรกรปลูกกุยช่ายเป็นอาชีพหลักกันเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในสวนผักที่ปลูกกุยช่ายส่งขายมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็คือ “สวนผักปากช่อง”
คุณชยพล กลมกล่อม เกษตรกรเจ้าของ “สวนผักปากช่อง” เนื้อที่รวมกว่า 1,000 ไร่ ตั้งอยู่เลขที่ 388 หมู่ที่ 19 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (โทร. 08-1876-3388, 09-1705,9148) การเดินทางมาที่สวนแห่งนี้ก็ง่ายแสนง่าย หากมาจากกรุงเทพฯโดยรถยนต์ใช้เส้นทางมุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาจนถึงสะพานมิตรภาพเป็นระยะทาง 160 กิโลเมตร จากนั้นก็เลี้ยวขวาขับต่อไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตรก็จะถึงสวนผักปากช่อง (ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางอยู่เป็นระยะ)
เหตุที่ต้องบอกทางกันอย่างละเอียดก็เพราะสวนผักแห่งนี้กำลังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเกษตร อำเภอปากช่อง, กรมส่งเสริมการเกษตร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นหมายความว่า นอกจากคุณผู้อ่านจะได้เข้ามาเที่ยวชมความสวยงามของผักและได้ลิ้มลองผักสดปลอดภัยมาตรฐาน GAP แล้ว ยังได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักกลับไปทำเป็นอาชีพได้อีกด้วย และหนึ่งในวิชาการปลูกผักที่อยากให้คุณผู้อ่านได้รู้ก็คือการปลูกกุยช่ายเงินล้าน!!…
คุณชยพล เล่าให้ฟังว่า “กุยช่าย” เป็นผักเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เพราะมีตลาดบริโภคกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งราคาของผักกุยช่ายค่อนข้างเสถียร ไม่ผันผวนเช่นราคาผักชนิดอื่น ที่สำคัญยังปลูกง่าย ดูแลง่าย และมีคู่แข่งไม่มากเช่นผักชนิดอื่น ๆ แต่เกษตรกรมักมองข้ามไม่เห็นความสำคัญของผักกุยช่าย ทั้ง ๆ ที่เป็นผักทำเงินที่น่าสนใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการลงทุนในการปลูกกุยช่ายจะค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกระถางพลาสติกทรงกรวยที่ใช้ครอบในการทำกุยช่ายขาวนั้นมีต้นทุนอยู่ที่ใบละ 18-19 บาททีเดียว
สำหรับการปลูกกุยช่ายนั้น เริ่มจากการเตรียมกล้า โดยสวนผักปากช่องใช้เมล็ดกุยช่ายจากแปลงเพาะพันธุ์มาขยายพันธุ์ต่อ(พันธุ์กุยช่ายที่เหมาะสำหับการปลูกเพื่อการค้าควรจะเป็นพันธุ์ดอก) ซึ่งวิธีการเพาะกล้าเริ่มจาก การไถยกแปลงและตากดินไว้ไม่ต่ำกว่า 15 วัน จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินแล้วจึงย่อยพรวนดินอีกครั้ง เมื่อเตรียมแปลงเรียบร้อยแล้วให้รดน้ำให้ชุ่มแล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้มาหว่าน (การหว่านเมล็ดพันธุ์ต้องระวังอย่าให้หนามาก) จากนั้นจึงคลุมแปลงด้วยฟางข้าวและรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง เมล็ดพันธุ์จะใช้เวลา 5-7 วันจะเริ่มงอก ผู้ปลูกจะต้องดูแลและรดน้ำกล้าพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนกระทั่ง ต้นกล้ามีอายุประมาณ 120 วัน จึงสามารถนำกล้าไปปลูกลงแปลงปลูกได้
ส่วนการเตรียมแปลงปลูกให้ทำเช่นเดียวกับแปลงเพาะกล้า หากจะให้ดีควรจะมีการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือปอเทืองเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสดสำหรับการเพิ่มอินทรียวัตถุให้มากขึ้น จากนั้นไถกลบและยกร่องแปลงปลูก เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้วให้นำกล้ามาลงปลูก โดยใช้ระยะปลูก 35 x 35 เซนติเมตร (เป็นระยะที่สะดวกต่อการจัดการดูแลและการเก็บเกี่ยว) วิธีการปลูกให้ปลูกหลุมละ 4-6 ต้น (ไม่ควรปลูกมากกว่านี้เพราะเมื่อกุยช่ายแตกกอจะทำให้แย่งอาหารกัน ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์)
ภายหลังจากการปลูกกุยช่ายแล้ว ควรจะมีการใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 2-3 ตัน ต่อไร่ ทุกปี ส่วนปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมอาจจะใช้สูตรตัวหน้าสูง หรือสูตรเสมอ 15-15-15 อัตราการใช้ 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งใส่ทุกรอบที่ตัดใบไปจำหน่าย เพื่อเป็นการเร่งการเจริญเติบโตของใบใหม่ขึ้นมาทดแทนใบที่ถูกตัดไป ทั้งนี้ควรมีการให้ปุ๋ยทางใบเสริมด้วย โดยเฉพาะพวกน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้นกุยช่าย อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
กุยช่ายจะเริ่มตัดได้ในรอบแรกเมื่อย้ายลงแปลงปลูกประมาณ 45-60 วัน โดยจะตัดเป็นกุยช่ายเขียวจำหน่ายก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นอีก 60 วันจึงตัดดอกกุยช่ายจำหน่าย และอีก 60 วันจึงเริ่มครอบขาว เพื่อทำกุยช่ายขาวจำหน่าย โดยวิธีการทำกุยช่ายขาวนั้น เกษตรกรจะต้องลงทุนในเรื่องของวัสดุป้องกันพืชสังเคราะห์แสง ซึ่งอาจจะใช้เป็นกระถางดินเผา กระบอกไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ ทั้งนี้กระถางกรวยพลาสติกจะดีกว่าวัสดุชนิดอื่น เนื่องจากคงทนและมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
สำหรับวิธีการครอบขาวนั้นภายหลังจากที่ตัดต้นเขียวหรือดอกไปจำหน่ายแล้ว จะต้องนำวัสดุมาครอบที่โคนต้นกุยช่ายทันที จากนั้นจึงนำแสลนพรางแสงมาคลุมทับอีกครั้งเพื่อป้องกันความร้อน ไม่อย่างนั้นต้นกุยช่ายที่อยู่ในกระถางจะถูกความร้อนอบ ซึ่งจะทำให้เน่าตายได้
“แปลงกุยช่ายที่ปลูก 1 ครั้ง จะสามารถสร้างรายได้ให้เราต่อเนื่องประมาณ 3 ปี จึงจะโล๊ะและพักแปลง ทั้งนี้เกษตรกรบางรายเขาก็อาจจะไว้แค่ 2 ปี ก็โล๊ะแล้วก็พักแปลง ซึ่งระหว่างการพักแปลงเราก็อาจจะใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผักชนิดอื่น อีก 4-5 ปี เราจึงจะกลับมาปลูกกุยช่าย ณ แปลงปลูกเดิมได้ ทั้งนี้เทคนิคในการโล๊ะแปลงหรือพักแปลงก็ขึ้นอยู่ที่เกษตรกรแต่ละคนว่าจะมีความสามารถในการปรับปรุงหรือดูแลคุณภาพของดินอย่างไร เพราะโดยธรรมชาติของดิน หากเราปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำซากเป็นระยะเวลานาน ๆ พืชชนิดนั้นก็จะอ่อนแอหรือได้ผลผลิตที่ต่ำลง ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัด
ฉะนั้น จึงได้พัฒนาการปลูกผักอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมานั่นก็คือการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน นั่นก็คือการปลูกในน้ำ ซึ่งตอนนี้แปลงปลูกผักในน้ำของเรามีพื้นที่ 30 ไร่ ซึ่งการปลูกผักไร้ดินมีข้อดีตรงที่เราสามารถปลูกผักชนิดเดิมซ้ำที่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องย้ายแปลงปลูกหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนพืชมาปลูกเช่นการปลูกในดิน อีกทั้งการปลูกในน้ำยังทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการปลูกในดินจะเห็นว่า การปลูกขึ้นฉ่ายในดินจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 65-70 วัน (ตั้งแต่เพาะเมล็ด) จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายได้ แต่ถ้ามาปลูกในน้ำจะใช้เวลาเพียง 35 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ทั้งนี้การปลูกผักในน้ำต้นทุนจะสูงมาก โดยค่าก่อสร้างโรงเรือนและวางระบบจะอยู่ที่ตารางเมตรละ 1,200 บาท”
สำหรับรายได้จากการปลูกกุยช่ายนั้น หากเป็นกุยช่ายเขียวจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-40 บาท ดอกกุยช่าย ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-60 บาท และกุยช่ายขาว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ส่วนการให้ผลผลิตของกุยช่ายนั้นแต่ละฤดูก็จะให้ผลผลิตแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการดูแลจัดการ
“ข้อแนะนำสำหรับการที่จะปลูกผักขาย สิ่งแรกที่จะต้องมองก็คือในเรื่องของตลาด อย่างที่ผมกล่าวไปตั้งแต่ต้นว่ากุยช่ายขาวมีความต้องการบริโภคสูง แต่ผลผลิตที่เกษตรกรผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค ดังนั้นต้องคิดว่าทำยังไงจึงจะสามารถเดินไปเปิดตลาดตรงนั้นได้ กล้าที่จะเดินเข้าไปหาตลาดหรือเปล่า ซึ่งจุดอ่อนของเกษตรกรบ้านมักจะปลูกก่อนค่อยมองหาตลาด แต่ในความเป็นจริงถ้าจะให้ประสบความสำเร็จเราต้องเดินหาตลาดก่อนแล้วค่อยมาปลูก
ทั้งนี้ในการผลิตกุยช่ายขาวของเกษตรกร ก็มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถทำกุยช่ายขาวได้ต่อเนื่องตลอด เพราะจะต้องพักต้นอย่างน้อย 3-4 เดือนถึงจะสามารถทำขาวได้อีกรอบ ในระหว่างพักเขียวเป็นขาวตรงนี้แหละเกษตรกรจะต้องวางแผนการจัดการ ถ้าจะทำขายต้องวางแผนว่า ทำยังไงจะให้มีกุยช่ายขาวส่งตลาดทุกวัน เพราะเมื่อใดก็ตามที่หาตลาดได้แล้ว แต่ไม่สามารถผลิตตามความต้องการได้ ตลาดก็จะเสีย พ่อค้าแม่ค้าก็จะเบนหน้าไปหาผู้ผลิตรายอื่น ๆ และอีกประเด็นสำคัญที่อยากฝากเอาไว้เป็นข้อคิดก็คือว่า หากมีการปลูกผักในพื้นที่หลาย ๆ เจ้า สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำก็คือการรวมกลุ่มกัน เพราะการรวมกลุ่มเป็นอำนาจการต่อรองด้านราคาได้อย่างหนึ่ง ทั้งนี้การรวมกลุ่มเราจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกลุ่ม ไม่ใช่วันนี้มีแม่ค้าเจ้าอื่นมาให้ราคาสูงกว่าแม่ค้าประจำที่รับซื้อกลุ่มก็ไปขายให้เจ้าอื่นสุดท้ายแล้วกลไกราคามันก็จะเสีย ไม่ต่างอะไรจากต่างคนต่างทำ” คุณชยพล กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม “กุยช่าย” เป็นพืชผักที่มีแมลงหรือโรคเข้าทำลายน้อยกว่าพืชผักชนิดอื่น ๆ หากมีการดูแลรักษาโดยการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชที่ดีแล้วจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถตัดใบออกจำหน่ายได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ผลผลิตของใบกุยช่ายจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินด้วยเช่นกัน
สำหรับใครที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร “สวนผักปากช่อง” แห่งนี้มีความรู้ทางด้านการเกษตรหลากหลายเรื่องราว ทั้งปลูกผักและเพาะเห็ด รอให้คุณผู้อ่านไปเยี่ยมเยียน ซึ่งรับรองว่าสถานที่แห่งนี้จะทำให้คุณได้รับทั้งความสุข ความสนุกเพลิดเพลิน และที่สำคัญยังได้ความรู้ติดตัวไว้ทำมาหากินอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล : Page เกษตรกรก้าวหน้า
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น