หนี้บัตรเครดิต…เรื่องสำคัญที่คนใช้ “บัตรเครดิต” ต้องเข้าใจ!!!
หากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง คดีที่เกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นคดีประเภทใด
ในกรณีที่คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตตามกฎหมายจะถือเป็น คดีแพ่ง ส่วนโทษในคดีแพ่งจะมีเพียงการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
หากถูกฟ้องจะต้องขึ้นศาลอะไร ที่ไหน
กรณีที่เป็นคดีเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิตจะเข้าข่ายคดีเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ซึ่งสถานที่ที่เจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องลูกหนี้ ได้แก่
1. ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
2. ศาลที่มูลคดีเกิด (ที่ตั้งของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ได้ไปรับบัตรเครดิต)
ส่วนการจะฟ้องที่ศาลใดจะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ดูประเภทของคดีก่อนว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด
2. ดูทุนทรัพย์ของคดีว่าอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดหรือศาลแขวง
เช่น ศาลจังหวัด จะพิจารณาคดีแพ่งที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท
ส่วนศาลแขวง จะพิจารณาคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท
คดีบัตรเครดิตจะเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใดและมีอายุความกี่ปี
ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป ส่วนคดีหนี้บัตรเครดิตจะมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปี
เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ โดยเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี หากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ดังนี้
1. ทรัพย์สินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น โต๊ะกินข้าว เก้าอี้ โทรทัศน์ เครื่องครัว มูลค่ารวมกัน 50,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด แต่ถ้าเป็นสร้อย แหวน นาฬิกา ของเหล่านี้แม้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของลูกหนี้ แต่เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ยึดได้เพราะไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร (ถ้าประกอบธุรกิจรับถ่ายเอกสาร) ถ้ามูลค่ารวมกัน 100,000 บาทแรก ห้ามเจ้าหนี้ยึด ในกรณีที่เครื่องมือประกอบอาชีพมีราคาสูงกว่า 100,000 บาท และจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ก็สามารถขอต่อศาลได้
ข้อควรรู้ หากมีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน
เจ้าหนี้สามารถทำเรื่องขออายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้หรือไม่
ข้อนี้อาจะยาวเสียหน่อย แต่คนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตควรจะทราบไว้เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกรณีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือนครับ ถ้าลูกหนี้เพิกเฉยไม่ยอมติดต่อเจ้าหนี้ ไม่ยอมใช้หนี้ หรือตกลงเรื่องการจ่ายเงินไม่ได้ ทนายของฝ่ายเจ้าหนี้ก็อาจจะทำเรื่องขอยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนได้
สำหรับเกณฑ์การอายัดเงินเดือนของกรมบังคับคดี หากลูกหนี้เป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำของข้าราชการจะไม่ถูกอายัดเงินเดือน หากลูกหนี้เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง หรือเป็นพนักงานบริษัท ฯลฯ จะถูกอายัดเงินเดือน โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. อายัดเงินเดือนไม่เกิน 30 %
ลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท (อายัดไม่ได้)
ลูกหนี้เงินเดือนเกิน 10,000 บาท อายัดได้ 30 % แต่จะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อให้ลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้
2. เงินโบนัส จะถูกอายัดไม่เกิน 50 %
3. เงินตอบแทนการออกจากงาน จะถูกอายัด 100 %
4. เงินค่าตอบแทนต่าง ๆ ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตำแหน่ง เจ้าหนี้จะสืบทราบและทำการร้องขอต่อศาลว่าจะอายัดเท่าไร
5. บัญชีเงินฝาก (อายัดได้)
6. เงิน กบข. (อายัดไม่ได้)
7. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำกับบริษัท (อายัดไม่ได้) (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
แต่ถ้าทำกองทุนต่าง ๆ กับธนาคารต้องดูตามหลักเกณฑ์ของกองทุนว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ และมีข้อห้ามการบังคับคดีหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ และไม่มีข้อห้ามก็จะอายัดได้
8. เงินค่าวิทยฐานะ (ค่าตำแหน่งทางวิชาการ) ถ้าเป็นข้าราชการจะไม่ถูกอายัด แต่ถ้าเป็นสังกัดเอกชนจะถูกอายัด เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
9. หุ้น กรมบังคับคดีสามารถยึดใบหุ้นเพื่อขายทอดตลาดได้ หรือถ้ามีเงินปันผล ก็จะทำเรื่องอายัดเงินปันผลได้
10. เงินสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัท หากเจ้าหนี้สืบทราบว่าเป็นสมาชิกสหกรณ์ใด สามารถอายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้
11. ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท หากผู้ร่วมลงทุนมีปัญหาถูกอายัดทรัพย์ กรมบังคับคดีจะอายัดเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกอายัดเท่านั้น ไม่ได้อายัดทั้งหมด อาจดูเฉพาะส่วนของเงินปันผล ใบหุ้น ฯลฯ ของผู้ถูกอายัด
การถูกอายัดเงินเดือน กรมบังคับคดีจะอายัด 30% จากเงินเดือนเต็ม ก่อนหักภาษีและประกันสังคม
กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้หรือไม่
ถ้าเป็นกรณีที่เป็นสามีภรรยาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ให้ถือว่าทรัพย์สินภายในบ้านเป็นสินสมรส เจ้าหนี้มีสิทธิ์นำชี้แถลงยืนยันต่อ เจ้าพนักงานบังคับคดี พร้อมนำส่งเอกสารประกอบการยึดทรัพย์ได้ หากทรัพย์ภายในบ้านเป็นสินสมรสจริง
ในกรณีที่ลูกหนี้เสียชีวิตใครจะเป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้สินดังกล่าว
หลายคนอาจสงสัยว่าหากเจ้าหนี้เสียชีวิตลง ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินที่ผู้ตายได้ก่อไว้ก่อนเสียชีวิต เรื่องนี้มีคำตอบครับ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สินกันก่อนซึ่งตามกฎหมายระบุไว้ว่า “หนี้” ถ้าคนไหนก่อคนนั้นก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบครับ คนอื่นไม่เกี่ยว ดังนั้นชัดเจนแล้วว่า คนอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายไม่ต้องเป็นกังวลไปนะครับว่าจะโดนทวงหนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลงตามการตายของลูกหนี้ คนมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้กันไป โดยกฎหมายระบุไว้ว่า เมื่อลูกหนี้ได้เสียชีวิตลง เจ้าหนี้ก็จะต้องไปทวงหนี้เอาจากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้นครับ แต่ถ้าหากลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนตายก็จบครับเป็นอันว่า “เจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับชำระหนี้คืนเลย”
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ดูเหมือนลูกหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป ในทางปฏิบัติแล้วยังพอมีหนทางที่ลูกหนี้จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ได้ซึ่งกระปุกดอทคอมขอยกมา 3 วิธี ได้แก่ การประนอมหนี้ การโอนหนี้บัตรเครดิต และการปรับโครงสร้างหนี้
การประนอมหนี้
การประนอมหนี้ คือ การที่เจ้าหนี้ยินยอมลดจำนวนหนี้สินลง หรืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ผ่อนชำระในจำนวนเงินที่น้อยลงสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของลูกหนี้ ส่วนจำนวนหนี้ที่ยอมลดให้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการต่อรองระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ แม้ว่าบางครั้งเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้ไม่สูงแต่ถือว่าดีกว่าไปฟ้องร้อง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายทางศาล และเป็นการรักษาชื่อเสียงของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้รายนั้นไม่ใช่เจ้าหนี้หน้าเลือด
การโอนหนี้บัตรเครดิต
ส่วนใหญ่เวลาคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมักเกิดจากหนี้จากบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ ทำให้ต้องชำระหนี้หลายช่องทางพ่วงด้วยอัตราดอกเบี้ยตามจำนวนบัตรที่ถือ ซึ่งภาระเรื่องดอกเบี้ยนี่แหละที่เป็นตัวการใหญ่ของปัญหาหนี้บัตรเครดิต ดังนั้นจึงมีหลายสถาบันการเงินที่รับโอนหนี้ ซึ่งการโอนหนี้ก็คือ การถ่ายโอนหนี้ค้างชำระจากสถาบันการเงินเดิมไปรวมไว้ยังสถาบันการเงินแห่งใหม่ ซึ่งลูกหนี้จะสะดวกในการรวมชำระหนี้ให้เป็นแห่งเดียว และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง ง่ายต่อการชำระหนี้มากขึ้น
ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนชำระได้นานขึ้นทำให้มีเวลาในการตั้งตัวและหาเงินมาใช้หนี้ รวมไปถึงช่วยลดภาระการชำระหนี้ต่อเดือน เช่น การผ่อนบัตรเครดิต ต้องชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดคงค้าง ถ้าโอนหนี้แล้ว ลูกหนี้สามารถเลือกผ่อนได้น้อยลงขึ้นอยู่กับจำนวนเดือนที่เลือกผ่อนชำระกับทางสถาบันการเงิน
การปรับโครงสร้างหนี้
เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน เนื่องจากโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบัน การปรับโครงสร้างหนี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม, ขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงขอจ่ายเป็นค่างวดตามเงื่อนไขเดิม พร้อมกับขยายระยะเวลาการกู้ออกไป เป็นต้น ดังนั้นพูดได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นประโยคที่ใช้ได้จริงกับผู้คนในยุควัตถุนิยมอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งจะว่าไปการมีบัตรเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด หากเรารู้จักการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและรู้จักคำว่า พอเพียง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ก็สามารถมีบัตรเครดิตได้ ดังนั้นจึงอยากจะฝากข้อคิดถึงผู้ที่เป็นหนี้ทุกประเภทว่าจะใช้จ่ายอะไรก็ตาม ขอให้นึกถึงความจำเป็นและศักยภาพในการชำระหนี้ของเราเป็นหลัก เพราะถ้าทำตามความต้องการของตัวเองมากจนเกินไปอาจก่อให้เกิดหนี้สินพะรุงพะรังจนเราไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด และอาจโดนฟ้องร้องจนเป็นเหตุให้เสียทรัพย์สินตามมาก็เป็นได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Kapook.com, กรมบังคับคดี, ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, lukkid.com, บริษัท สำนักงานจรัสทนายความและการบัญชี จำกัด, บริษัท พัฒนกิจ บัญชี ภาษีและฝึกอบรม จำกัด, บริษัท อาณาจักรกฎหมาย จำกัด
แสดงความคิดเห็น