10 เรื่องที่ต้องทำ! ถ้าอยากมีเงินเก็บ…เป็นกอบเป็นกำสักที!!!
1. ตั้งระบบเตือนความจำ
แม้ทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่าต้องประหยัด แต่หลายคนไม่รู้ว่าการเตือนด้วยลายลักษณ์อักษรให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังนั้นลองตั้งไว้ในสมาร์ทโฟนด้วยข้อความสั้น ๆ อย่างเช่น “อย่าลืมหยอดกระปุก 100 บาท” และให้มันส่งเสียงเตือนทุกอาทิตย์ รับรองว่าเมื่อถึงสิ้นปีต้องมียิ้มแก้มปริแน่นอน
2. ทิ้งระยะ 24 ชั่วโมง
ทุกครั้งที่คิดจะซื้อสินค้าราคาแพง ลองปล่อยเวลาให้ผ่านไป 24 ชั่วโมงก่อนค่อยตัดสินใจอีกครั้ง หากเรายังอยากได้อยู่ก็แปลว่าเราอาจต้องการมันจริง ๆ แต่บอกเลยว่าส่วนใหญ่จะไม่ ! การทิ้งระยะเวลาเป็นเทคนิคที่จะช่วยควบคุมการใช้จ่ายให้กับเรา เพราะความรู้สึกอยากได้จะเกิดในระยะเวลาช่วงสั้น ๆ และมักไม่สัมพันธ์กับเรื่องความจำเป็นนั่นเอง
3. ต่อรองค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
หากรู้วิธีเลือกบัตรเครดิตที่ให้ประโยชน์สูงสุด ก็อย่าลืมเรียนรู้การใช้บัตรอย่างฉลาดด้วย เพราะบัตรเครดิตเหล่านี้เราสามารถต่อรองได้ทั้งเรื่องการลดค่าธรรมเนียม การลดดอกเบี้ย การเพิ่มวงเงินในกรณีฉุกเฉิน หรือแม้แต่การอนุโลมค่าปรับในกรณีชำระเกินกำหนด อย่างไรก็ตามสิทธิพิเศษเหล่านี้จะได้มาในกรณีที่เราเป็นลูกค้าชั้นดีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงเราชำระค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนหรือในระยะเวลาที่กำหนดทุกครั้ง ดังนั้นวางแผนการใช้บัตรเครดิตให้ดี แล้วบัตรเครดิตจะให้ประโยชน์มากกว่าที่เราคิด
4. อย่ายื่นภาษีนาทีสุดท้าย
เตรียมทุกอย่างให้พร้อมก่อนฤดูยื่นภาษีจะมาถึง เพราะนอกจากจะหลีกเลี่ยงค่าปรับจากการยื่นภาษีล่าช้าได้แล้ว ยังหมายถึงความพร้อมหากสรรพากรขอเอกสารการลดหย่อนเพิ่มเติมอีกด้วย ดังนั้นเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอย่างมีระบบตลอดทั้งปี เพื่อให้คุณคือคนที่รีแลกซ์ที่สุดเมื่อฤดูยื่นภาษีมาเยือน
5. ลองซ่อมก่อนตัดสินใจทิ้ง
ก่อนที่จะทิ้งของเก่าแล้วซื้อใหม่ ลองพิจารณาการซ่อมแซมหรือซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเป็นทางเลือกดูก่อน เพราะอาจจะเซฟเงินได้มากถึง 10 เท่า ดังนั้นทุกครั้งที่จะทิ้งของ ให้คิดดูว่าของใหม่จำเป็นต่อเราจริง ๆ หรือเปล่าถ้าหากว่าของเก่ายังทำงานได้อยู่ บางทีเราอาจจะประหลาดใจกับคำตอบของตัวเองก็ได้
6. ใช้จ่ายด้วยเงินสด
การพกเงินสดไว้ใช้จ่าย จะทำให้เราเห็นทุกสถานการณ์ของเงินในกระเป๋า ซึ่งแน่นอนว่าเราจะรู้สึกใจหาย หากต้องหยิบเงินก้อนใหญ่ออกมาใช้ หรือเห็นเงินสดในกระเป๋าลดลง ดังนั้นแทนที่จะชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต ลองตัดสินใจพกเงินสดดู โดยกำหนดค่าขนมในแต่ละวันหรือสัปดาห์ให้ชัดเจน เป็นวิธีที่จะช่วยรักษาเงินในกระเป๋าได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
7. แบ่งเงินออกเป็นหลาย ๆ บัญชี
ทริคของข้อนี้มีอยู่ว่า เมื่อเราเห็นตัวเลขในบัญชีลดลง เราจะทบทวนการจ่ายเงินอีกครั้งโดยธรรมชาติ ดังนั้นลองใช้กฎนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการกระจายเงินออกเป็นหลาย ๆ บัญชี และทุกครั้งที่จะซื้อของให้ถอนเงินจากหลาย ๆ บัญชีเหล่านั้นมารวมกัน เพราะเมื่อเราเห็นเงินแต่ละบัญชีกำลังจะลดลง เราจะทบทวนการซื้ออีกครั้งโดยอัติโนมัติ
8. เก็บเล็กผสมน้อย
อย่าดูถูกการเก็บเงินทีละเล็กน้อย เพราะมันอาจจะดูไม่เยอะในระยะแรก แต่หลังจากเก็บได้สักระยะ เราจะเริ่มสนุกกับการให้เห็นเงินเหล่านั้นงอกเงย ลองใช้เทคนิคเก็บแบงค์ย่อยทุกครั้งที่ได้รับทอนมา หรือกระทั่งเก็บเหรียญหยอดกระปุกไว้ทุกครั้ง รับรองว่าเงินเล็กน้อยเหล่านี้จะมีมูลค่ามหาศาลเมื่อเราเปิดมานับอีกครั้งแน่ ๆ
9. สะกดรอยตามการใช้จ่าย
วิธีควบคุมการใช้จ่ายยอดฮิตคือ การติดตามการใช้จ่ายทุกฝีก้าว ด้วยการจดบันทึกทุกอย่างลงไป ลองใช้แอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่สามารถบันทึกได้ทั้งรายรับและรายจ่าย และยังแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องทางการเงินเรา ใครจะรู้บางทีเราอาจเลิกกินกาแฟราคาแพง หรือลาขาดการชอปปิ้งออนไลน์ของโปรดไปตลอดกาล ด้วยเหตุเพราะเสียดายเงินก็ได้
10. จัดบ้านอย่างสม่ำเสมอ
อย่าเพิ่งงงว่าการจัดบ้านอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเก็บเงินได้อย่างไร ความจริงก็คือเรามักซื้อสิ่งของซ้ำ ๆ เพียงเพราะเราลืมไปว่าเรายังมีของหล่านั้นอยู่ ดังนั้นจัดตารางเก็บกวาดบ้านทุกอาทิตย์ เพื่อให้เราได้เห็นสิ่งของทุกชิ้นเรามีอยู่ ซึ่งหมายถึงเราอาจจะไม่อยากได้มันอีก วิธีนี้ยังช่วยให้เราค้นพบของที่เราอาจลืมไปแล้วได้อีกด้วย
ยึดกฎเหล็ก 10 ข้อนี้เพื่อให้การเก็บเงินเป็นไปตามที่หวังไว้ โดยอย่าลืมว่าทุกอย่างต้องอาศัยวินัย และคนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะได้รับผลสำเร็จเป็นรางวัลตอบแทน แล้วทุกคนจะไปถึงเป้าหมายที่ต้องการแน่นอน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Kapook.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น