homenayoo

[เคล็ดลับ] บริหารเงิน “โบนัส” ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด!

โพสโดย : pure / วันที่ : 6 January 2015

[เคล็ดลับ] บริหารเงิน “โบนัส” ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด!

a_12

ช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนรอคอย เพราะบริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานเพื่อเป็นรางวัลสำหรับความตั้งใจทุ่มเททำงานมาตลอดทั้งปี และเมื่อได้รับเงินโบนัสก้อนโตแล้ว

หลายคนมักจะนำเงินไปใช้กับการช้อปปิ้งหรือเที่ยวต่างประเทศจนหมด หากไม่อยากให้เงินโบนัสของเราต้องหมดไปอย่างรวดเร็วกับสิ่งเหล่านี้ K-Expert มีแนวทางในการบริหารและใช้เงินโบนัสให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาฝาก ไปติดตามกันค่ะ

แนวทางการบริหารเงินโบนัส

1. ชำระหนี้สินระยะสั้น

คนที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด การนำเงินโบนัสไปชำระหนี้ถือเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกเลยค่ะ เนื่องจากหนี้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20-28% ต่อปี

การชำระหนี้ดังกล่าวจึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของเราลงได้ในระยะยาว และหากเป็นไปได้ แนะนำให้นำเงินโบนัสไปชำระหนี้ทั้งหมดก่อนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายซื้อของที่อยากได้หรือท่องเที่ยวค่ะ

2. ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี

สำหรับคนที่มีภาระต้องจ่ายภาษี ช่วงเดือนธันวาคมถือเป็นโค้งสุดท้ายในการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อช่วยลดหย่อนภาษี โดยก่อนการลงทุน แนะนำให้ตรวจสอบยอดเงินที่สามารถลงทุนได้

ซึ่งยอดเงินลงทุนในกองทุนแต่ละประเภทต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และสำหรับกองทุนรวม RMF ยอดเงินลงทุนเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

อย่างไรก็ตาม การซื้อกองทุนรวม LTF ในเดือนธันวาคมเพียงเดือนเดียวอาจทำให้ซื้อหน่วยลงทุนได้ในราคาที่สูงกว่าการกระจายการลงทุนไปตลอดทั้งปี จึงแนะนำให้ลงทุนแบบรายเดือนสม่ำเสมอ (Dollar Cost Averaging) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนค่ะ

3. ชำระหนี้สินเชื่อบ้านมากขึ้น

ส่วนคนที่กำลังผ่อนบ้านอยู่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ดอกเบี้ยบ้านทำให้เรามีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านที่สูงขึ้น การนำเงินโบนัสส่วนหนึ่งมาชำระหนี้สินเชื่อบ้านมากขึ้นจะช่วยให้เงินต้นของยอดหนี้ลดลงไป ซึ่งจะทำให้ภาระผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นค่ะ

4. สำรองเงินเพื่อเป็นสภาพคล่องเผื่อฉุกเฉิน

เราควรมีการกันเงินสำรองไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยให้กันเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา

เช่น อุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือต้องออกจากงาน เงินสำรองในส่วนนี้จะช่วยให้ภาระต่าง ๆ บรรเทาลงไป และยังช่วยให้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาชำระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ค่ะ

5. เริ่มออมและลงทุนเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ

เชื่อว่าหลายคนมีเป้าหมายทางการเงินในใจ และเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนก็มักแตกต่างกัน

เช่น คนโสดอาจมีเป้าหมายที่จะซื้อบ้านหรือรถยนต์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนคนที่มีครอบครัวแล้วอาจมีเป้าหมายการออมเงินเพื่อการศึกษาบุตร เงินโบนัสก้อนโตที่ได้รับจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเริ่มออมเงินเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ

เมื่อเริ่มออมหรือลงทุนจากเงินโบนัสแล้ว หลังจากนั้นก็สามารถออมเงินหรือลงทุนเป็นรายเดือนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ หากเป็นเป้าหมายระยะสั้น (1-3 ปี) แนะนำให้ออมเงินในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

เช่น เงินฝาก กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลา เป็นต้น แต่หากเป็นเป้าหมายระยะยาว แนะนำให้ลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น

เพื่อโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูง เช่น หุ้น ทองคำ ทั้งนี้ อย่าลืมทำแบบทดสอบความเสี่ยงเพื่อให้ทราบว่า ตัวเราเองสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนด้วยนะคะ

หวังว่าวิธีการบริหารเงินโบนัสที่แนะนำจะเป็นแนวทางให้หลาย ๆ คนนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง โดยสามารถแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น

และเงินอีกส่วนหนึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าที่เราต้องการเพื่อเป็นรางวัลจากการทำงานหนักได้ เพียงเท่านี้เงินโบนัสของเราก็จะมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : Kapook.com


สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม  086-1290293 
LINE ID : 123456786205
Email : wanchalearm.t@gmail.com
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " [เคล็ดลับ] บริหารเงิน “โบนัส” ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด! "

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.