12 เคล็ดลับ กิน-อยู่ อย่างพอดี แค่นี้ก็มีเงินเหลือ!!!
เงิน สิ่งสำคัญล้ำค่าที่กว่าจะหามาได้แต่ละบาทก็เหนื่อยกันแทบขาดใจ แต่กลับร่อยหรอไปได้อย่างรวดเร็วราวกับน้ำซึมลงในทราย บางคนได้รับเงินเดือนมาไม่กี่วันก็หมด แทบจะต้องต้มมาม่ากินกันไปทั้งเดือนก็ยังมี นั่นก็เพราะการจัดสรรเงินที่ไม่ถูกต้อง และการใช้เงินอย่างขาดการวางแผนที่ดี
ปัญหาเหล่านี้ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นเพราะตัวเราเองทั้งนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ การรัดเข็มขัด และการกินอยู่อย่างประหยัด เป็นวิธีที่จะช่วยให้ตัวเลขที่ติดลบต่อเดือนหายไปได้ด้วยวินัยการเงินที่เคร่งครัด
ถ้าในวันนี้อยากจะเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เงินของตัวเองละก็ ลองมาดู 12 วิธีใช้เงินอย่างประหยัด กินอยู่อย่างไรไม่ให้เงินหมดก่อนสิ้นเดือน วิธีเหล่านี้ช่วยคุณได้
1. ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
วิธีการประหยัดเงินสุดคลาสสิกที่ได้ผลเสมอ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นวิธีที่จะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนเราได้รับเงินมาเท่าไร และจ่ายเงินไปเท่าไร มีค่าใช้จ่ายใดที่เกินความจำเป็นบ้าง
นอกจากจะช่วยเพลา ๆ การใช้เงินของเราลงได้แล้ว ยังสามารถช่วยให้เราประมาณการใช้เงินของเราในเดือนถัดไปได้อีกด้วย ได้ประโยชน์หลายต่ออย่างนี้ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมวิธีประหยัดเงินนี้จึงได้รับความนิยมที่สุด
2. เศษเหรียญมีค่าต้องใช้ให้คุ้ม
ยอมรับมาซะดี ๆ เถอะว่าต้องมีหลาย ๆ คนไม่ชอบการพกเหรียญให้หนักกระเป๋า แต่อย่าลืมนะว่าเหรียญเหล่านั้นก็คือเงินเหมือนกัน
ดังนั้นอย่าปล่อยเหรียญทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ค่ะ เหรียญทุกเหรียญมีค่า ไม่ว่าจะเหรียญบาท เหรียญสลึง ถ้าไม่อยากหนักกระเป๋าก็แค่นำไปแลกที่ธนาคารแค่นี้ก็ได้ธนบัตรออกมาใช้สบายใจแล้ว
3. งดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ค่ากาแฟ ขนม หรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาแต่ไม่มีทางได้ใส่ ค่าใช้จ่ายพวกนี้เป็นความฟุ่มเฟือยที่ควรจะตัดทิ้งอย่างยิ่ง ลองคิดดูสิว่าวัน ๆ หนึ่ง คุณดื่มกาแฟแก้วละ 50 บาท รวมทั้งเดือนจะเป็นเท่าไร แล้วเราต้องเสียเงินไปเท่าไร หรือโดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชอบช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ
หันกลับมาดูสิว่า สิ่งที่คุณซื้อมาจำเป็นหรือเปล่า คุ้มค่าหรือไม่ หรือแค่เพียงสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น แม้นั่นจะเป็นความสุขที่คุณได้รับจากการซื้อของที่ถูกใจ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไงการมีเงินเหลือใช้มากขึ้นก็ดีกว่าใช่ไหมล่ะ
4. อย่าอายกับการซื้อของลดราคา
ป้ายลดราคาคือสวรรค์ของใครหลาย ๆ คน แต่สำหรับบางคนก็ยังแอบรู้สึกอายที่ต้องไปซื้อของลดราคา ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเป็นวิธีการประหยัดเงินที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเห็นป้ายลดราคาแล้วจะพุ่งเข้าใส่อย่างเดียวนะ ตั้งสติและซื้อเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าทำได้ก็ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลยเชียวล่ะ
5. เลือกซื้อของที่คุณภาพไม่ใช่ราคา
บางคนอาจจะคิดว่าการเลือกซื้อของที่ราคาถูกกว่าและคุณภาพน้อยลงหน่อยน่าจะช่วยเซฟเงินได้บ้าง แต่ถ้ามาเทียบกันจริง ๆ แล้ว การซื้อของที่มีคุณภาพดีแต่ราคาเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยย่อมคุ้มค่ากว่านะ
ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของใช้ต่าง ๆ เมื่อมีคุณภาพที่ดีกว่าย่อมมีอายุการใช้งานที่นานกว่าอยู่แล้ว ฉะนั้นแทนที่จะมองเรื่องราคา หันมามองที่คุณภาพจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลังหากของใช้ที่ซื้อมาเกิดพังแล้วค่าซ่อมแซมแพงกว่าตอนที่ซื้อมา
6. ต่อราคาบ้างก็ได้
รู้หรือไม่ว่าแม่ค้าบางร้านก็ตั้งราคาเผื่อต่อให้กับลูกค้าเอาไว้แล้ว ของบางชิ้นที่เราเห็นว่าแพงที่จริงแล้วอาจจะลดราคาลงได้อีก ยิ่งถ้าหากเป็นแม่ค้าบางคนที่กล้าได้กล้าเสียยอมลดราคาให้คุณแบบแทบไม่เอากำไรด้วยละก็ ถ้าไม่ลองต่อราคาสักหน่อยแล้วจะเสียดายนะจะบอกให้
7. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนอกบ้าน
การรับประทานอาหารนอกบ้าน ถึงจะสะดวกแต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่เบา เพราะนอกจากราคาอาหารแล้ว ร้านอาหารก็ต้องบวกค่าภาษี บวกค่าบริการ บวกค่าแก๊ส ค่าแอร์ในร้าน โอ้ย…อีกสารพัดอย่างที่นึกได้
แล้วเราจะยอมเสียค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไปทำไมในเมื่อเราสามารถเก็บออมส่วนนั้นไว้ได้ ลองห่อข้าวกล่องไปรับประทานตอนกลางวัน หรือรีบกลับบ้านมารับประทานอาหารเย็นที่บ้านทุกวันดูสิ รับรองว่าเหลือเงินเก็บมากขึ้นแบบเห็น ๆ
8. จำกัดการใช้เงินของตัวเองในแต่ละวัน
อาจจะเป็นวิธีที่เคร่งครัดไปนิด แต่ก็เป็นการฝึกวินัยการใช้เงินที่ดี กำหนดไปเลยว่าเราต้องจะใช้วันละเท่าไร โดยในเงินจำนวนนั้นอาจจะรวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร และอาจจะพอให้มีเหลือกินขนมนมเนยอีกนิด
แบ่งเงินที่ต้องใช้ในแต่ละวันใส่ถุงหรือใส่ซองเอาไว้ หยิบไปวันละซอง และไม่ว่าอย่างไรก็ห้ามใช้เกินกว่านี้ ถ้าทำติดต่อกันได้สัก 1 เดือน นิสัยในการใช้เงินของคุณเปลี่ยนแน่นอน
9. เช็กราคาก่อนซื้อ
สิ่งของที่เราคิดว่าซื้อมาในราคาย่อมเยาบางครั้งอาจจะแพงกว่าบางที่โดยที่ไม่รู้ตัว ฉะนั้นถ้าไม่อยากจะเสียส่วนต่างของราคาไปง่าย ๆ ควรเช็กราคาให้ดีก่อนที่จะซื้อ
โดยเลือกที่ดูแล้วการซื้อครั้งนั้นจะคุ้มค่าที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่ถูกที่สุด แต่ถ้าหากเมื่อเทียบกับค่าเดินทาง หรือค่าขนส่งแล้วประหยัดได้มากกว่าก็เลือกซื้ออันนั้นเลย ที่สำคัญ อย่าลืมดูที่คุณภาพด้วยนะ
10. ทำอาหารรับประทานเองสิ
สำหรับคนที่พอจะมีฝีมือปลายจวักอยู่บ้าง การทำอาหารรับประทานเองก็เป็นความคิดที่ดี นอกจากเราจะได้รสชาติอาหารที่ถูกปากเราแล้ว ก็ยังสามารถเลือกวัตถุดิบดี ๆ มาปรุงอาหาร แถมยังไงก็ถูกกว่าการไปซื้ออาหารสำเร็จรูปรับประทานข้างนอกแน่ ๆ
แต่ถ้าใครทำอาหารไม่เป็น จะลองฝึกทำก็ถือเป็นการเพิ่มพูนทักษะไปในตัว นอกเสียจากว่าคุณเป็นคนที่ไม่ถนัดทำอาหารจริง ๆ ทำแล้วต้องเททิ้งตลอด แบบนี้อย่าทำเองเลยดีกว่า เดี๋ยวจะพาลทำให้เสียของเสียเงินยิ่งกว่าเดิม
11. ปลูกสวนครัวไว้ข้างบ้านก็ดีนะ
ข้อดีของการอยู่ในบ้านที่มีบริเวณก็คือสามารถปลูกผักสวนครัวเอาไว้รับประทานเองได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกทุกอย่างที่คุณกิน เลือกปลูกในสิ่งที่คิดว่าคุณจะต้องได้ใช้อยู่บ่อย ๆ เช่น ใบกะเพรา พริก ใบมะกรูด มะนาว โหระพา หรือผักที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก
แต่ถ้าใครอยู่คอนโดหรือหอพักก็ไม่ต้องเสียใจไป เดี๋ยวนี้มีวิธีสอนการปลูกผักแบบคอนโด ให้ได้ลองไปทำตามอีกเพียบ ลองนำไปใช้ดู รับรองว่าลดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารการกินลงได้ แถมถ้าเหลือจากการเก็บไปรับประทานจะนำไปขายก็ได้รายได้เสริมอีกด้วยนะ
12. แบ่งเงินออมทันทีหลังได้รับเงินเดือน
แม้จะไม่ใช่การใช้เงินอย่างประหยัดโดยตรงเสียทีเดียว แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เราออมเงินได้ ไม่ต้องแบ่งเก็บคราวละมาก ๆ ออมเงินในปริมาณที่เราสามารถทำได้ โดยที่ไม่กระทบค่าใช้จ่ายของตนเองมากนัก โดยอย่างน้อยก็ควรจะแบ่งไว้ออมประมาณ 5-10% ของเงินที่ได้รับในแต่ละเดือน
ซึ่งเงินก้อนนี้หากคุณไม่ตบะแตกหยิบออกมาใช้เสียก่อนก็จะกลายเป็นเงินเก็บที่คุณภาคภูมิใจในอนาคต อีกทั้งถ้าหากเกิดเรื่องฉุกเฉินอะไรจะได้ไม่ต้องไปหยิบยืมใครให้ลำบากใจยังไงล่ะ
วิธีที่ว่ามาทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นวิธีที่หลาย ๆ คนทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้นการสร้างวินัยในการใช้เงินก็คงจะไม่ยากหากคุณเริ่มต้นรัดเข็มขัดและใข้เงินอย่างประหยัดกันตั้งแต่วันนี้ ลำบากวันนี้แต่สบายในวันหน้านะ
ขอขอบคุณข้อมูล : Kapook.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น