ชีวิตดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ “เมื่อเริ่มบันทึกรายรับ-รายจ่าย” รู้แบบนี้ทำตั้งนานแล้ว!
แชร์ประสบการณ์การออมเงิน ด้วยการจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย จากคุณแม่บ้านหัวโต สมาชิก Pantip.com เจ้าตัวบอกเลยว่า รู้แบบนี้ทำตั้งนานแล้วววว มนุษย์เงินเดือนท่านไหน กำลังอยากออมเงินหละก็ ห้ามพลาดบทความนี้เลยค่ะ ตามมาดูเทคนิคของเค้า แล้วนำไปปรับใช้กับตัวเรากันได้เลย 🙂
ชีวิตดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ “เมื่อเริ่มต้นจดบัญชีรายจ่าย” ใครยังไม่ได้ลอง ลองดูแล้วจะรู้ว่า น่าจะทำตั้งนานแล้ว BY คุณแม่บ้านหัวโต สมาชิก Pantip.com
จากชีวิตมนุษย์เงินเดือน ต้องผกผันมาค้าขายทั้งแบบ Online และ Offline จังหวะดีที่จับสิ่งแรกที่ทำก็เงินเข้าแบบไม่สะดุดเหมือนมีเงินเดือนเลย แต่เมื่อถึงช่วงที่ “ยอดขายตก” ชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จึงได้เริ่มเข้าใจคำว่า “รายได้ไม่แน่นอน” นั้นต้องรับมืออย่างไร จากมีเงินเข้าทุกวัน กลายเป็นรายจ่ายมีทุกวันแต่เงินไม่เข้า จากมีเงินเก็บนอนนิ่งอยู่ในบัญชี ก็ต้องเริ่มดึงออกมาหมุนทั้งในร้าน และใช้จ่ายในครอบครัว
ค้าขายรอบแรกยังเป็นมือใหม่ ไม่ได้ทำบัญชีละเอียด ไม่ได้แยกค่าจ้างตัวเองออกมา เหมือนที่หลายคนคงได้อ่านจากการแชร์ประสบการณ์ของหลาย ๆ คน พอเราไม่ได้แยก เห็นแต่เงินเข้า เงินออก ก็ไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วกำไรจริง ๆ มันเท่าไรกันแน่ หมุนกันไป หมุนกันมา จนต้องเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่กับการเปลี่ยนแนวทางการทำมาหากิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ… เงินเก็บหมด หนี้สินเพิ่ม !!! จากไม่เคยเป็นหนี้บัตรเครดิต ก็ได้เป็นจนเข้าใจอารมณ์ของการต้องหาเงินมาจ่ายขั้นต่ำให้รอดทุกเดือน
ชีวิตเริ่มเปลี่ยน กลับมาถึงจุดที่ต้องนับหนึ่งกันใหม่ มนุษย์เงินเดือน ไม่เคยค้าขาย เริ่มมานั่งจับจุด ตั้งสติ ปรับปรุงกันอีกรอบในระยะเวลา 2 ปีแรกจากกิจการแรกที่ทำ เราก็มาเริ่มนับหนึ่งใหม่กับ อย่างที่สองที่ลงมือทำ แต่คราวนี้มีบทเรียนแล้ว และสิ่งที่ค้นพบว่าเราควรทำคือ
- แยกเงินค่าจ้างตัวเองออกมาให้ชัดเจน
- ทำบัญชีต้นทุนร้านให้ชัดเจนขึ้น ทำต้นทุนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
- เริ่มทำบัญชีรายจ่ายสำหรับครอบครัวด้วย
แยกเงินค่าจ้างตัวเองออกมาให้ชัดเจน
ทำบัญชีต้นทุนร้านให้ชัดเจนขึ้น ทำต้นทุนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่ “บัญชีรายจ่าย” สำหรับครอบครัวนี่ล่ะค่ะ… จากที่คิดว่าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือยนะ พอทำบัญชี ค้นพบว่า โห !! รายจ่ายบางอย่าง มันไม่น่าจะหมดไปขนาดนี้เราก็ได้เห็น หลังจากนั้นพฤติกรรมของทุกคนในบ้านก็เริ่มถูกเปลี่ยนไป
1. เลิกใช้บัตรเครดิต ปัดทุกอย่างเข้าระบบเงินสดทั้งหมด : อะไรที่ยังไม่มีเงินก็ยังไม่ซื้อ อาการซื้อไว้ก่อนมันลดราคาก็หายไปเลย ซื้อเท่าที่มีเงิน และจำเป็นต้องใช้เท่านั้น อันไหนหมดค่อยซื้อ บัตรเครดิตมีไว้สำหรับ “กรณีฉุกเฉิน” จริง ๆ เช่น ป่วยเข้าโรงพยาบาล หรือรถเสีย เหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องจ่ายและเงินสดในมือไม่พอ
ผลที่เกิดขึ้นคือ ยอดเงินขั้นต่ำที่ต้องหามาจ่าย ค่อย ๆ ลดลงทุกเดือน เพราะไม่มีการสร้างหนี้ใหม่ จากอาการกระหืดกระหอบก็เริ่มหายใจทั่วท้องขึ้น
2. ใช้ทุกอย่างให้หมด ซื้อมากินให้หมด ของใช้ต้องใช้ให้หมด ดังนั้น คิดก่อนซื้อ เพราะซื้อมาแล้วต้องรับผิดชอบ ของกินที่เคยหมดอายุทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แกะกิน ตอนนี้ของสด หมดแล้วค่อยซื้อ อะไรที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้กินไหมก็ยังไม่ซื้อ เห็นลดราคา เห็นแถม ก็เลิกซื้อ ไม่จำเป็น
สารพัดครีมที่ซื้อมาลองแล้วใช้ครั้งสองครั้ง ถูกตั้งทิ้งไว้ก็ถูกรื้อมาใช้จนหมด จะบอกว่าตอนนี้ตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้ ครีมที่มียังมีอีกเพียบเลย ไม่ได้เสียเงินกับครีม เซรั่มอะไรแบบนี้มา 6 เดือนได้
3. เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า งดซื้อ ใส่ที่มี รองเท้าไม่ขาด ไม่คับ ก็ไม่ซื้อ ซึ่งมีมากพอที่จะใส่อยู่แล้ว สบาย ๆ
4. จะออกจากบ้านไปทำอะไร วางแผนหลายตลบเลยทีนี้ อะไรที่ต้องไปจ่ายไปทำในเส้นทางเดียวกันเตรียมไปให้หมด แล้วอะไรที่ไม่ใช่เรื่องจำเป็นก็ไม่ไป เก็บเนื้อเก็บตัว งดพบปะเพื่อนฝูงถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ผลที่เกิดขึ้นคือ จากค่าน้ำมัน + ค่าทางด่วน เยอะที่สุดที่เคยจดไว้คือ 6 พันกว่าบาท ตอนนี้ต่ำสุดคือ 850 บาท แต่โดยเฉลี่ยปกติก็จะเหลือเดือนละพันปลาย ๆ สองพันต้น ๆ
5. เริ่มทำกับข้าวกินเอง ให้โควตาการไปกินข้าวนอกบ้านได้ เดือนละ 1 ครั้ง ในงบไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับ 3 คน พ่อ แม่ ลูก แล้วก็เริ่มการหัดทำกับข้าวกินเอง จนได้พบว่ามีเมนูประหยัดมากมาย ที่อร่อยได้ด้วยเงินไม่กี่บาท เช่น ยำปลากระป๋อง ต้มยำปลากระป๋อง น้ำพริก+ไข่ต้ม ผัดผัก ผัดกะเพรา
6. เริ่มปลูกอะไรที่ใช้บ่อย ๆ เองในบ้าน เช่น กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง จะกินเมื่อไรก็เดินไปเด็ด จากที่ต้องซื้อกะเพรา โหระพา กำละ 5 บาท ก็ไม่ต้องซื้อ ตอนนี้ก็ค่อย ๆ พยายามปลูกอย่างอื่นเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ
7. งดไปเที่ยวต่างจังหวัดก่อน… หาที่เที่ยวใกล้ ๆ ที่ไปก็สนุกได้แบบประหยัด หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกันแล้วสนุกได้แบบไม่ต้องใช้เงินมากมาย
จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลังจากได้เห็นรายจ่าย ที่น่าตกใจภายในบ้าน ในช่วงวิกฤตแล้ว อีกอย่างที่นำมาใช้ จากการได้อ่านกระทู้แชร์ประสบการณ์จากการเก็บเงินจากในพันทิป ที่เจ้าของกระทู้เก็บแบงก์ 50 บาท ไว้เรื่อย ๆ เลยนำมาลองทำตามบ้าง แต่ประยุกต์เป็นการเก็บแบงก์ 50 20 และเหรียญที่เข้ามาในกระเป๋าสตางค์ทุกวัน ออกแยกเป็นเงินออม
เริ่มต้นทำมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 จนตอนนี้มีเงินออมเดือนละพันนิด ๆ ทุกเดือน ก็นำไปซื้อสลากออมสินเก็บไว้ทุกเดือน โดยเอาแบงก์และเหรียญที่เก็บไว้นั่นล่ะค่ะไปซื้อ ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาถูกรางวัลได้มา 150 บาท คือไม่ได้หวังอะไรกับเงินรางวัลมาก (แต่ตรวจตรงเวลาเป๊ะทุกงวดเลยนะ วะฮ่าฮ่า) แค่อยากมีเงินเก็บแบบที่ไม่ต้องไปแตะต้องเลยยาว ๆ
ปี 2559 นี้ เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ละเอียดขึ้น เริ่มจดรายรับ ที่ได้รับการแยกค่าจ้างตัวเอง จากกิจการที่ทำอยู่อย่างชัดเจนขึ้น เริ่มเห็นตัวเลขว่า รับเท่านี้ จ่ายเท่านี้ มันยังเขย่งกันอยู่เท่าไร คาดว่า ปี 2559 นี้ ชีวิตครอบครัวเราน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ในที่สุด
แวะมาแชร์ประสบการณ์เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับหลาย ๆ คนหากกำลังอยู่ในภาวะแบบเดียวกันนะคะ ถ้าเริ่มจัดการทุกอย่างเร็วเท่าไร ทุกอย่างก็จะถูกสะสางเร็วขึ้นเท่านั้นนะคะ เห็นหลายคนรอบตัว ยังบ่นกันเรื่องเป็นหนี้บัตรเครดิต แต่ยังคงมีพฤติกรรมการใช้เงินแบบเดิม ไม่ปรับ ไม่เปลี่ยน หรือไม่ยอมหักดิบ มันก็ยากที่จะเคลียร์ก้อนดินที่พอกหางอยู่นะ
และถ้าท่านใดมีวิธีการออมเงินที่ดีกว่าที่ทำอยู่นี้ แนะนำได้นะคะ กำลังเริ่มศึกษาข้อมูลอยู่เหมือนกันแต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี
#แม่บ้านหัวโต
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : แม่บ้านหัวโต สมาชิก Pantip.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น