รู้หรือไม่! MRT สถานีสีลม คือสถานีที่สร้างยากที่สุด – เทคนิคการก่อสร้างขั้นสูงที่เคยเกิดขึ้นในไทย
[สาระน่ารู้] MRT สถานีสีลม สถานีที่สร้างยากที่สุด เทคนิคการก่อสร้างขั้นสูงที่เคยเกิดขึ้นในไทย จากคุณ Chuthaphong สมาชิก Pantip.com
สวัสดีครับ ผมได้ทำภาพขึ้นมาชุดนึง แต่ปกติผมจะลงไว้ที่ “ชมรมคนรักรถไฟฟ้า” https://www.facebook.com/groups/metrotrainloverclub/
แต่เรื่องที่ผมจะเล่านี้คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนทั่วไป อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าประเทศเราก็เคยมีงานก่อสร้างยากๆเหมือนตามสารคดีเหมือนกัน
คงเคยดูสารดคีการก่อสร้างของต่างประเทศ ที่ทั้งยาก ทั้งวุ่นวาย แต่ในไทยไม่ค่อยจะมีเลย เห็นเคยมีสะพานภูมิพล ที่ Discovery หรือ NET Geo มาถ่าย
แต่นอกจากสะพานภูมิพลแล้วผมคิดว่าสถานที่นี้ก็เป็นที่หนึ่งที่สร้างยาก ใช้เทคนิคทางวิศวกรรมสูงเหมือนกัน
ภาพจำลองตัดขวางสถานีสีลม
สถานีสีลมหนึ่งในสถานีของโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย ก่อสร้างเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ในยุคที่โครงการรถไฟฟ้าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ในยุคที่รถไฟฟ้ามีความเสี่ยงสูงสำหรับประเทศไทย มีกี่โครงการก็ล้ม รถไฟฟ้าสายนี้ก็เช่นกัน
ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งคือการเปลี่ยนจากรถไฟฟ้ายกระดับมาเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ทั้งค่าก่อสร้างที่เพิ่มมากขึ้น นั่นทำให้เกิดงานวิศวกรรมก่อสร้างใหม่ๆในไทย
สถานีสีลม อยู่บนถนนพระราม 4 อยู่ใต้สะพานไทย-ญี่ปุ่น สะพานข้ามแยกศาลาแดง จะทำยังไง ที่จะไม่ต้องรื้อสะพานข้ามแยก จะทำยังไงที่จะไม่ต้องปิดการจราจรบนสะพาน สุดท้ายคือจะสร้างสถานีนี้ได้ยังไง
ภาพจำลองตัดขวางสถานีสีลม
คำตอบของปัญหานี้คือ “ตัดเสาเข็มสะพานข้ามแยก” จากนั้นถ่ายเทน้ำหนักสะพานลงไปที่หลังคาสถานี ใช่แล้วครับทั้งหมดเกิดขึ้นใต้ดิน และทั้งหมดเกิดขึ้นขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่บนสะพาน
วิธีการคือ(จะขออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆนะครับ)
1.สร้างกำแพงกันดินขึ้นมา เป็นกำแพงของตัวสถานีนั่นแหละครับ
2.ขุดดินในกำแพงกันดินออกจนถึงฐานรากสะพานข้ามแยก
3.สร้างพื้นหลังคาสถานี
4.ติดตั้ง Hydraulic ที่ใต้ฐานรากสะพานข้ามแยก
5.ขุดลงไปใต้หลังคาสถานี ตัดเสาเข็มสะพานข้ามแยก (ยังมีรถวิ่งอยู่บนสะพาน) ตอนนี้น้ำหนักสะพานจะถ่ายเทลงบนหลังคาสถานีโดยมี Hydraulic รับไว้ครับ
6.สร้างพื้นชั้นขายตั๋วสถานี
7.ขุดลงไปใต้พื้นชั้นขายตั๋วแล้วตัดเสาเข็มสะพานข้ามแยกออก
8.ทำแบบนี้ไปเรื่อยจนถึงชั้นชานชาลาล่างสุด
ในส่วนของตัวสถานีนั้นก็จะมีเสาใหญ่มารับน้ำหนักหลังคาสถานีอีกที ก็คือเสาใหญ่ๆหลายๆต้นที่เราเห็นในสถานีนั่นเองครับ
ภาพจำลองตัดขวางสถานีสีลม
ด้วยความพิเศษของการก่อสร้างสถานีนี้ ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสถามถึงผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ถึงการก่อสร้างสถานีสีลม ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถ “โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547
ภาพจำลองตัดขวางสถานีสีลม
นั่นทำให้สถานีนี้เป็นสถานีที่ลึกที่สุดในปัจจุบัน ลึก 30 เมตร ก็เลยทำให้มี “บันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”อยู่ในสถานีนี้ด้วย สถานีนี้ก่อสร้างโดยบริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน)
ที่มาข้อมูลการก่อสร้างสถานี สามารถไปดูวิธีการสร้างสถานีนี้อย่างละเอียดได้ที่ลิ้งนี้ครับ อยู่ล่างๆหน่อย
http://www.thaiengineering.com/2015/index.php/download/item/413-underpinning
ผมไม่ใช่วิศวกร ศัพท์เทคนิคอะไรพวกนี้ก็ไม่ค่อยทราบ อาศัยว่าติดตามงานรถไฟฟ้าและชอบมานานครับ แต่สมัยนั้นไม่รู้จะไปหาข้อมูลแบบนี้จากไหน
ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ
ใครมีข้อมูลในช่วงนั้นสามารถเสริมได้เลยครับ อยากรู้เหมือนกัน 555
**** เพิ่มเติมข้อมูลของรถไฟฟ้าสายนี้อีกนิด***
ทางลอดแยกห้วยขวาง และสุทธิสาร ก่อสร้างพร้อมกับสถานีห้วยขวางและสถานีสุทธิสาร มีโครงสร้างตัวสถานีและทางลอดเป็นโครงสร้างเดียวกัน เพดานของสถานีด้านบนก็เป็นถนนลอดแยกนั่นเอง
นอกจากในรถไฟฟ้าสายที่เปิดให้บริการไปแล้ว ในส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายนี้ก็มีสถานีที่มีความโดดเด่นในด้านโครงสร้างคือ
- สถานีบางหว้า
- สถานีบางหว้าเป็นสถานีร่วมระหว่าง
- สถานีบางหว้า (รหัสสถานี S12) สายสีเขียว ดำเนินการก่อสร้างโดย กทม. ปัจจุบันให้บริการโดย BTS
- สถานีบางหว้า (รหัสสถานี BS16) สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง
- สถานีบางหว้า (BS16)ออกแบบให้เชื่อมต่อกับสถานีบางหว้า (S12) ได้อย่างสะดวก โดยสถานีบางหว้า (BS16) จะมีความสูงกว่า สถานีบางหว้า (S12)
- สถานีบางหว้า (S12)ตั้งอยู่บนจุดตัดระหว่างถนนราชพฤกษ์กับถนนเพรชเกษม
- สถานีบางหว้า (BS16) ตั้งอยู่บนถนนเพรชเกษมติดกับสถานีบางหว้า (S12)
**ภาพทั้งหมดไม่ใช่ภาพจากทางโครงการ เป็นภาพที่ผมทำขึ้นเองครับ**
และอีกสถานีคือ สถานทีท่าพระ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้าง
สถานีท่าพระ เป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนสายในรถไฟฟ้าสายเดียวกันเอง ระหว่างสายสีน้ำเงินเส้นเพรชเกษม(หัวลำโพง-หลักสอง) และสายสีน้ำเงินเส้นจรัญสนิทวงศ์ (เตาปูน-ท่าพระ) เป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เส้นจรัญสนิทวงศ์ (เตาปูน-ท่าพระ) สูง 4 ชั้น (รวมชั้นระดับพื้นดิน)
- ชั้น 1 (ระดับพื้นดิน) มีทางขึ้นลงสถานี 6 จุด มีทางออกฉุกเฉินสองจุด มีห้องสำหรับระบบภายในสถานี
- ชั้น 2 เป็นชั้นจำหน่ายตั๋ว มีจุดจำหน่ายตั๋ว และพื้นที่ Free Area 3 จุด
- ชั้น 3 เป็นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน เส้นเพรชเกษม(หัวลำโพง-หลักสอง) และพื้นที่สำหรับเปลี่ยนไปชานชาลาชั้น 4
- ชั้น 4 เป็นชานชาลาสายสีน้ำเงิน เส้นจรัญสนิทวงศ์ (เตาปูน-ท่าพระ)
- สถานีท่าพระมีลิฟต์บริการใน Paid Area 2 จุด
- และลิฟต์ทางขึ้นลงสถานี 3 จุด ไม่มีลิฟต์ในฝั่งเพรชเกษมขาออก
สถานีนี้นอกจากเป็นสถานีสำหรับเปลี่ยนสายการเดินทาง ยังมีความพิเศษในด้านโครงสร้าง คือตัวสถานีสร้างคร่อมอุโมงค์ทางลอด และสะพานข้ามแยก
ภาพจำลองเอาหลังคาสถานีออกครับ
หลายคนบอกสถานีสีลมบันไดสูง ซับซ้อน ก็ไม่เท่าไรนะครับ 555
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : คุณ Chuthaphong สมาชิก Pantip.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น