มูลนิธิโครงการหลวงแนะปลูก “มะระรูปหัวใจ” ให้จัดการง่าย โตไว ได้ผลผลิตเร็วต้องแบบนี้!!
“มูลนิธิโครงการหลวง” นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงที่ประสบความสำเร็จ ในแง่ของการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทน ซึ่งนอกจากช่วยให้ราษฎรชาวเขาในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 38 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร รวมถึงการค้นคว้าวิจัย พัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนการพัฒนาระบบการจัดการเกษตรและด้านการตลาดอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
พืชพรรณต่าง ๆ ที่มูลนิธิโครงการหลวงได้นำมาปลูก ส่วนใหญ่เป็นพืชชนิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผลผลิตที่ออกมาแย่งตลาดกับพืชหลักที่เกษตรกรปลูกกันอยู่แล้ว แต่ทว่าพืชใหม่ ๆ ที่นำมาปลูกเหล่านี้กลับเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในภูมิภาคต่าง ๆ นำไปปฏิบัติตาม
ซึ่งสร้างอาชีพและรายได้ที่ดีให้พี่น้องเกษตรกร และพืชพรรณหลายชนิดได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน อย่างกะหล่ำปลี กาแฟอราบิก้า มะเขือเทศดอยคำ ชา อะโวกาโด สตรอว์เบอร์รี กุ้งก้ามแดง เป็นต้น
สำหรับผลผลิตของมูลนิธิโครงการหลวงที่กำลังเป็นกระแสนิยมและสร้างความสนใจให้ผู้คนอยู่ในขณะนี้ก็คือ“มะระรูปหัวใจ”หรือมะระพันธุ์วาเลนไทน์ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ให้มีความน่าสนใจ มีรสไม่ขมมากเหมาะกับคนไทย ซึ่งเป็นมะระที่มีลักษณะแตกต่างจากมะระชนิดอื่นทั่วไป โดยผลเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายกับรูปหัวใจ จึงเป็นที่มาของชื่อ ขนาดไม่ใหญ่มาก มีสีเขียวสด ผิวเป็นมันเงา มีรสชาติไม่ขมมากและเนื้อกรอบ
นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งวิตามินซี วิตามินบี 1, 3 แคลเซียม ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน ไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม รวมถึงสารโมโมดิซิน ที่ช่วยในการเจริญอาหารและมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ด้วย ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง ที่สำคัญยังปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้กับดินทั่วไป (รวน ทราย เหนียว) ทั้งยังให้ผลผลิตที่ดี เก็บผลผลิตจำหน่ายได้ทุกสัปดาห์ เก็บได้เรื่อย ๆ จนถึง 15-20 ครั้ง
คุณพิรุณ โปชา หรือ คุณดอย บ้านเลขที่ 276 หมู่ 1 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ (โทร. 08-4481-0136) หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกมะระรูปหัวใจให้กับมูลนิธิโครงการหลวง ให้ข้อมูลว่า แต่เดิมมีอาชีพเป็นผู้จัดการบริษัทไฟแนนซ์ แต่ช่วงหลังเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานในออฟฟิศที่ทำมานานปี จึงผันตัวเองมาทำงานในมูลนิธิโครงการหลวง
ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือชาวเขาให้มีอาชีพ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีพืชผักหลากหลายชนิดที่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปลูก อย่างเช่น คะน้า บัตเตอร์นัท เสาวรสสีม่วง มะเดื่อฝรั่ง ฯลฯ
“เมื่อว่างเว้นจากการทำงานในโครงการฯ ก็ได้นำผักต่าง ๆ ที่ส่งเสริมมาทดลองปลูกดูบ้าง พร้อมกับจดบัดทึกข้อมูลการผลิต การจำหน่าย รวมถึงรายได้และผลกำไรของการปลูกพืชผักแต่ละชนิด ต่อมาได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะระรูปหัวใจ ซึ่งเป็นผักชนิดใหม่ของโครงการฯ ตนเองจึงได้นำมาทดลองปลูกด้วย ปรากฏว่ามะระรูปหัวใจสามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้ค่อนข้างดี จึงได้เปลี่ยนมาปลูกมะระรูปหัวใจอย่างจริงจัง”
คุณพิรุณ บอกว่าความน่าสนใจของมะระรูปหัวใจ นอกจากลักษณะผลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดึงดูดใจได้เป็นอย่างดีแล้ว ขนาดผลที่ไม่ใหญ่มากนัก เป็นขนาดที่พอดีกับการนำไปต้มหรือแกงได้ 1 หม้อเล็ก ๆ ทำให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ไม่ยาก รวมถึงวิธีการปลูกและการจัดการดูแลง่าย
ยิ่งปลูกในพื้นที่ภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น ทำให้มะระเจริญเติบโตได้ค่อนข้างดี ลงทุนค่าต้นพันธุ์นำมาปลูกเพียงครั้งเดียว แต่สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำให้พื้นที่ที่ใช้ปลูกอยู่เพียง 2 งาน แต่สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 2,000-3,500 บาท/สัปดาห์เลยทีเดียว
สำหรับวิธีการปลูก ก็คล้าย ๆ กับการปลูกมะระทั่วไป คือ ต้องมีค้างเพื่อให้เครือมะระได้ยึดเกาะและพร้อมให้ผลผลิตในลักษณะห้อยลงมาได้ แต่ที่ต้องให้รายละเอียดมากหน่อย ซึ่งถือเป็นเคล็ดลับการปลูกมะระรูปหัวใจให้ประสบความสำเร็จก็คือ ต้องไถพรวนดินให้ละเอียด หรือไถพรวนอย่างน้อย 2 รอบ และมีการพูนดินให้สูงขึ้นเป็นลักษณะหลังเต่า ป้องกันน้ำท่วมขัง ทั้งนี้เนื่องจากมะระไม่ชอบน้ำท่วมขังซึ่งอาจทำให้รากเน่าและยืนต้นตายได้
“เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้วขุดหลุมปลูกระยะห่างระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 3 เมตร พร้อมรองก้นหลุมปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งช่วยลดเชื้อสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคในมะระที่ทำให้เกิดปัญหารากเน่าโคนเน่าและยืนต้นตายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้มีการใส่ปุ๋ยมูลโคที่ผ่านการหมักมาแล้ว ซึ่งช่วยให้มะระมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี พร้อมให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้”
จากนั้นนำต้นกล้ามะระที่ซื้อมาจากมูลนิธิโครงการหลวง ในราคาเพียงต้นละ 2 บาท มาปลูกในแปลง โดยต้นกล้าที่ซื้อจะมีอายุประมาณ 12-14 วัน มีลำต้นแข็งแรงและขนาดเท่ากัน ซึ่งการซื้อต้นกล้าที่เพาะมาเรียบร้อยแล้วนั้น นอกจากจะช่วยเรื่องความสะดวกไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะเองแล้วก็ยังได้เรื่องความทนทานต่อโรคและแมลง ตลอดจนเปอร์เซ็นต์การรอดต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแต่ละฤดูได้
คุณพิรุณ บอกว่าหลังนำต้นกล้าลงปลูกได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เริ่มทำค้างให้มีความสูงเหนือศีรษะผู้ปลูกเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการจัดการและเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อมะระโตก็จะเลื้อยขึ้นไปตามค้างที่วางไว้ ซึ่งหากสะดวกจะทำค้างไว้รอก่อนลงปลูกก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องระวังไม่ให้ค้างโดนลมพัด จนล้มทับต้นกล้าซึ่งสร้างความเสียหายหรืออาจทำให้ต้นกล้าตายได้
ส่วนการให้น้ำ ใช้เป็นระบบน้ำหยด
ซึ่งเป็นระบบการให้น้ำที่ถือว่ามีประสิทธิภาพดี ประหยัด และทำให้มะระสามารถดูดซึมน้ำก่อนเหือดแห้งลงดินและระเหยไปในอากาศ โดยวางท่อตามแนวปลูกตลอดแปลง พร้อมเจาะรูให้น้ำหยุดออกมาทุก ๆ 20 เซนติเมตร ทำให้ต้นมะระได้รับน้ำอย่างทั่วถึง โดยระบบให้น้ำทุก ๆ 2 วัน ซึ่งก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของมะระแล้ว
แต่หากเป็นฤดูฝน ไม่ต้องเปิดระบบให้น้ำเลย เพราะน้ำฝนเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอกับความต้องการของมะระแล้ว นอกจากนี้ให้ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตราส่วน 0.01 มิลลิกรัม พร้อมกับการให้น้ำ 4-5 วัน/ครั้งด้วย
“ระหว่างที่รอการติดผลของมะระ ให้สังเกตใบที่มีลักษณะเหลือง ซึ่งอาจเป็นลักษณะของใบที่เกิดโรค ให้เด็ดและนำไปทิ้งนอกแปลงปลูก เพราะหากเก็บไว้เชื้อโรคอาจแพร่กระจายทั่วทั้งแปลงได้ และเมื่อมะระเริ่มออกผล ไม่ควรรีบห่อทันที เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตของผลมะระได้ ต้องรอให้มะระมีขนาดโตพอสมควรก่อนทำการห่อ
ซึ่งการห่อผล มะระจะช่วยป้องกันแมลงเจาะทำลายและดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะแมลงวันทองที่ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของมะระด้วย และการห่อนอกจากเป็นการป้องกันแมลงแล้ว ยังช่วยให้ผิวของมะระเรียบเนียน ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นอีกด้วย”
คุณพิรุณ บอกว่าการเจริญเติบโตของมะระรูปหัวใจ ตั้งแต่ปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ใช้เวลาประมาณ 1.5 เดือน แต่ก็เริ่มเก็บมะระจำหน่ายตั้งแต่อายุ 1 เดือน โดยมะระผลหนึ่งจะเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 2 เดือน ดังนั้นถ้าไม่เก็บลงมา ปล่อยเวลาล่วงเลยไป ก็ทำให้มะระแก่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองซึ่งจำหน่ายไม่ได้ราคา เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก
“พื้นที่ปลูกมะระรูปหัวใจ จำนวน 2 งาน สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 50-60 กิโลกรัม/สัปดาห์ และเก็บผลผลิตเช่นนี้ได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี ที่สำคัญมีราคาที่ดีกว่ามะระพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ ปริมาณยังมีไม่มากนัก ขณะที่ตลาดเริ่มรู้จักและมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงสร้างรายได้ให้ค่อนข้างดี แม้หักต้นทุนการผลิตค่าจัดการดูแล ยังถือว่ามีผลกำไรค่อนข้างสูง เราลงทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถเก็บผลผลิตไปได้ตลอด”
อย่างไรก็ตามการปลูกพืชผลหรือการทำอาชีพด้านการเกษตร ไม่ควรยึดติดกับรายได้หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่มองถึงผลกำไรและราคาของสินค้าเป็นหลัก ทำให้เมื่อผลผลิตชนิดไหนมีราคาดีก็แห่กันไปผลิต จนทำให้สินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ เกษตรกรไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เกษตรกรควรพิจารณาเรื่องของตลาดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ แล้วผลิตพืชผลให้ตรงตามความต้องการตลาดที่มี ถึงเป็นวิธีที่ถูกต้อง
“เกษตรกรส่วนใหญ่มักดูเฉพาะราคา อะไรราคาดีก็ปลูกอย่างนั้น แต่ไม่ได้มองเรื่องของต้นทุนการผลิต ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าการบริหารจัดการ รวมทั้งค่าการขนส่ง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพเท่าที่ควร ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่หากเกษตรกรมองเรื่องของตลาดก่อน ดูว่าสินค้าชนิดไหนมีแนวโน้มด้านการตลาดที่ดี แล้วค่อยวางแผนผลิตสินค้าชนิดนั้น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเพาะปลูก ทั้งสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศเอื้อกับการเพาะปลูกอยู่แล้ว เพียงแต่วางแผนการผลิตและดูแลให้ดี เท่านี้อาชีพเกษตรกรประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก” คุณพิรุณ กล่าวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูล / ภาพ Page : เกษตรกรก้าวหน้า
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น