รีโนเวท มรดกตายาย จากบ้านไม้เก่าทรงไทยทางภาคเหนือ เป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ สวยคลาสสิก
สำหรับคนที่ต้องการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง บ้านทรงไทย ต้องห้ามพลาดรีวิวบทความนี้เลยค่ะ วันนี้เพียวยกตัวอย่าง การรีโนเวท มรดกเก่าแก่ของคุณตาคุณยาย จากบ้านไม้เก่าทรงไทยทางภาคเหนือ อายุประมาณ 40 ปี ให้กลายเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งบ้าน ที่ยังคงเอกลักษณ์ และ วัสดุบ้านหลังเดิมเอาไว้ สำหรับรายละเอียดการรีโนเวทจะเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามกันต่อได้เลยค่ะ
เรื่องราวจาก จากสมาชิก หมายเลข 1789960 Pantip.com ได้รับมรดกบ้านไม้เก่าของคุณตาคุณยายครับ บ้านหลังนี้อยู่ที่ จ. เชียงราย สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ (หมายความว่าสร้างก่อนหน้านี้ เนื่องจากสมัยก่อนต้องใช้เวลาในการสะสมไม้ต้องไปตัดเอาในป่ากว่าจะสร้างเสร็จหลายปี) เป็นบ้านไม้ทรงไทยทางภาคเหนือ มีห้องครัวแบบไทยแยกออกไป และมีสะพานไม้เชื่อม
บ้านหลังนี้ผ่านการปรับปรุงมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในส่วนของหลังคาที่เคยเปลี่ยนมาแล้ว พอได้รับมรดกมาก็ปรึกษาญาติ ๆ หลายท่านก็แย้งบอกให้รื้อขายเป็นไม้ซะเพราะบ้านเก่ามากแล้ว ผมก็เสียดายอยากเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพราะเดี๋ยวนี้บ้านไม้ก็หายากแล้ว เลยดันทุรังที่จะปรับปรุงให้ใช้งานได้ตามยุคสมัย ก็ลองดูกันเลยนะครับว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ภาพนี้เป็นภาพจาก google ดีใจที่ยังมีภาพเก่า ๆ ต้องขอบคุณ google ครับ
นี่เป็นสภาพของบ้านก่อนการปรับปรุงครับ ผมก็ได้เข้าไปสำรวจสภาพไม้ในจุดต่าง ๆ และพบว่ายังใช้งานได้ประมาณ 80% หมายความว่าต้องมีบางจุดที่ต้องมีการซ่อมแซมครับ
เนื่องจากพื้นที่บ้านเดิมของตา-ยายได้ถูกแบ่งให้กับลูกทั้งหมด 4 คน เท่า ๆ กัน หลังจากเอาโฉนดมากาง ผมก็เริ่มเห็นปัญหาแล้วล่ะครับ พบว่าตัวบ้านไปตกอยู่ในเขตพื้นที่ของคุณน้าและคุณลุง ดังที่เห็นนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนเชียร์ให้ผมรื้อบ้าน แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาครับทุกอย่างสามารถ
ขั้นตอนต่อไปคือการปรับพื้นที่ครับ ด้านหลังบ้านเดิมเป็นบ่อปลาของคุณตาที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ผมจึงทำการถมบ่อปลาดังกล่าวและปรับพื้นที่เพื่อรอการดำเนินการขั้นตอนต่อไป หมดงบประมาณในส่วนนี้ไปหมื่นกว่าบาท
ก่อนจะลงมือทำก็เลยวางแผนคร่าว ๆ ว่าหน้าตาของบ้านหลังจากปรับปรุงเสร็จน่าจะเป็นอย่างไร ผมก็เลยไปหาโปรแกรมเขียนแบบง่าย ๆ google sketch up ลองมาร่างแบบคร่าว ๆ ดู ได้หน้าตาออกมาเหมือนที่เห็นนี่แหละครับ (อันนี้คาดหวังว่าน่าจะได้อย่างนี้)
เนื่องจากที่บอกไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ตัวบ้านตกอยู่ในเขตที่ซ้อนทับกับที่ดินของญาติ ดังนั้นจึงต้องทำการย้ายตัวบ้านขยับเข้ามาอยู่ในเขตบ้านเรา ผมจึงได้ไปปรึกษากับช่างที่รับย้ายบ้าน เขาให้คำแนะนำกับผมว่าในส่วนของชานบ้านเดิม (ที่เป็นคอนกรีต) ไม่สามารถย้ายได้ หรือหากจะย้ายก็จะใช้งบประมาณสูงจึงแนะนำให้ทุบทิ้งแล้วค่อยสร้างใหม่ ผมจึงว่าจ้างช่างในพื้นที่มาทำการทุบและรื้อส่วนนี้ออกไปหมดงบประมาณไปราว 3,000 บาท
ระหว่างที่รอบริเวณบ่อปลาเดิมที่ถมไปให้แน่นนั้น ผมก็ได้ไปหากระเบื้องที่คาดว่าน่าจะเข้ากับตัวบ้านที่สุด สรุปก็คือกระเบื้องว่าว เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องพายุลูกเห็บ ซึ่งเกิดบ่อย ๆ ในพื้นที่ครับ จึงได้ไปสำรวจราคากระเบื้องว่าวใน จ.เชียงราย พบว่าราคาตกอยู่ที่ประมาณแผ่นละ 11 บาท ผมแอบคิดว่ามันแพงไปไหม จึงได้ติดต่อสอบถามจากเพื่อนฝูง
สุดท้ายก็พบว่ามีโรงงานที่ จ.ลำพูน ราคาขายหน้าโรงงานประมาณ 5.50 บาท จึงเดินทางไปที่ จ.ลำพูน ไปดูที่โรงงานเพื่อตรวจสอบคุณภาพ พบว่าโอเคเลยครับ เลยสั่งกระเบื้องมาตามจำนวนคร่าว ๆ ที่ได้จากแบบที่ออกไว้บวกเผื่อเหลือเผื่อขาดอีกเล็กน้อย หมดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไป 4 หมื่นกว่าบาท + ค่าขนส่งอีก 8,000 บาทครับ
เมื่อพื้นที่พร้อม (รอหลายเดือนเลยทีเดียว แฮ่ ๆ) มหกรรมการย้ายบ้านจึงเริ่มขึ้น ผมได้ช่างในพื้นที่ (เฮียมานิต อ.พาน) มารับเหมาทำให้ โดยตกลงค่าย้ายและดีดขึ้นเป็นเงิน 80,000 หลายท่านคิดบอกว่าแพงน่าดู คือผมจะบอกว่าผู้รับเหมาเขาจะคิดแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับจำนวนเสาของบ้านครับ
บ้านหลังนี้มีเสาทั้งหมด 22 ต้น อีกทั้งเป็นการย้ายและดีดขึ้นด้วย ราคานี้พร้อมค่าเสาสำเร็จ (เหล็ก 4 หุนเต็ม) ที่เขาจะเอามาใส่ให้ตอนดีดบ้านขึ้นครับ ผมก็คิดว่าสมเหตุสมผลละครับ ในรูปจะเห็นว่า ตัวบ้านได้ลาจากเสาเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ
ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียวในการย้ายบ้านและดีดบ้านครับ หลังจากย้ายบ้านและดีดขึ้นสูง 4 เมตร เรียบร้อยแล้ว ผมได้ขอให้ช่างช่วยเอาเหล็กเส้นดึงตัวบ้านไว้กับต้นไม้รอบ ๆ บ้านทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันพายุฤดูร้อน แต่เหตุการณ์มันไม่จบแค่นั้นครับ มันมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นต่อมา บ้านหลังจากย้ายและดีดเรียบร้อยแล้วนั้น ยังไม่ได้มีการยึดคานอะไรแต่อย่างใด มีเพียงแต่การเทตอหม้อแล้วเอาเสาสำเร็จใส่ลงไป เทปูนลงไปทับแล้วก็กลบดินครับ
เย็นวันหนึ่งหลังจากที่ช่างกลับไปได้เพียงวันเดียว หลายท่านคงจะจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในจังหวัดเชียงรายราว 7 ริกเตอร์ได้นะครับ มันไหวแรงจริง ๆ ครับ ตั้งแต่ผมเกิดมาเพิ่งเจอแผ่นดินไหวแรงแบบนี้ ตอนนั้นผมนั่งทานข้าวอยู่ที่บ้านอีกหลัง พอแผ่นดินไหวเสร็จผมรีบวิ่งมาดูเลยครับ ในใจก็คิดว่ามันจะล้มไหมนั่น
พอไปก็โล่งใจ สิ่งที่ปรากฏอยู่ข้างหน้าคือ บ้านผมที่ดีดขึ้นสูง 4 เมตร ไหวไปมากับแรงแผ่นดินไหวอย่างอ่อนโยน เดชะบุญที่มีสลิงลวดที่ยึดไว้ (หวังไว้ป้องกันพายุฤดูร้อน) ผมนี่ก็โล่งอกไปเยอะเลยครับ แต่ก็ยังนอนไม่หลับตลอดทั้งคืนเพราะว่ามีอาฟเตอร์ช็อกมาอีกเป็นร้อยรอบ ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้เกิดไหวใหญ่ในช่วงนี้เลย
วันรุ่งขึ้นเพื่อความไม่ประมาทผมจึงติดต่อช่างรับเหมาให้มาทำการเทคานยึดระหว่างเสาแต่ละต้นให้เรียบร้อย (ระหว่างนี้ก็มีอาฟเตอร์ช็อกมาอยู่เรื่อย ๆ)
จากนั้นก็ทำการก่อยกพื้นขึ้นสูงราวเมตรกว่าครับ ในระหว่างนี้ชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา ก็จะแวะมาดูบ้าน แล้วก็อุทานออกมาว่า “บ้านหยังมาสูงแต๊สูงว่า” หมายความว่าทำไมบ้านสูงจัง ผมได้ยินคำนี้ทุกวัน ในใจก็คิดว่าอืม…มันยังไม่เสร็จครับ แฮ่ ๆ
หลังจากก่อพื้นยกขึ้นแล้วก็ทำการเทพื้นใต้ถุนบ้านและมีก่อฝาผนังบ้างบางส่วน แต่ผมพบว่าฝีมือช่างกลุ่มนี้ไม่ค่อยจะดีเท่าไรจึงให้หยุดงานไปก่อน
หลังจากงานยึดโครงสร้างเสาด้านล่างเรียบร้อยแล้ว ผมจึงว่าจ้างช่างอีกกลุ่มมาดำเนินการปรับปรุงหลังคา โดยแก้ไขจากทรงจั่วเดิมให้เป็นทรงไทยหรือทรงปั้นหยาก๋าย (ภาษาเหนือ) โดยใช้ไม้โครงสร้างเดิมมาปรับใช้ ระหว่างนี้ก็มีช่างหลายคนมาแนะนำว่าทำไมไม่ใช้เหล็กไปเลย บางคนบอกว่ามันอาจจะรับน้ำหนักกระเบื้องว่าวไม่ไหวนะ แต่ผมก็ยังยืนยันที่จะใช้ไหม้ในการทำโครงสร้าง เพราะเราสามารถเพิ่มในส่วนของ หน่องหนัก (ภาษาเหนือ) หรือตัวรับน้ำหนักเพิ่มได้
ในส่วนของ “ก้าน” หรือส่วนที่จะให้กระเบื้องเกี่ยวนั้น ผมเลือกใช้เหล็กกล่องขนาด 1 นิ้ว พ่นสีกันสนิมครับ คิดว่าน่าจะดีกว่าใช้ไม้ (คิดเอง)
หลังจากนั้นก็เริ่มทำการมุงหลังคาครับ สังเกตว่าช่างของผมมีแค่สองลุง-ป้าครับ คุณป้าก็ยืนให้กำลังใจกับคุณลุงที่ขึ้นบนหลังคา ช่างแถวบ้านนอกพอถึงฤดูทำนาเขาก็จะไปทำนากันหมดครับ เหลือเพียงสองคนนี้เท่านั้นที่เขาไม่ได้ทำนา ก็ค่อย ๆ ทำกันไปครับ
ในส่วนของช่องลมเดิมที่เป็นเหล็กดัด เป็นซี่ ๆ ผมได้ให้ช่างแก้ไขทำเป็น “ฝาไหล” แบบโบราณ ซึ่งคิดว่าน่าจะเข้ากับตัวบ้าน โดยฝาไหลนี้สามารถเปิด-ปิดได้ ด้วยการเลื่อนซ้าย-ขวา
จากนั้นเป็นมหกรรมทำสีด้านนอก ครับ ผมเลือกที่จะใช้สีแบบเดิม คือเป็นสีปี๊บครับ ราคาปี๊บละประมาณ 3 ร้อยกว่าบาท หมดไปหลายปี๊บเลยทีเดียว และผมก็ได้ทำการเจาะบันไดด้านในตัวบ้านเพิ่มดังภาพ
หลังจากทาสีด้านนอกเสร็จครับ ให้อารมณ์เหมือนบ้านโบราณเหมือนเดิม
ในส่วนของประตูหน้าบ้านเดิม เป็นซี่ลูกกรงไม้โล่ง ๆ อันนี้ผมลงมือทำเองกับมือเลยครับ โดยการใช้ไม้กระดานปิดด้านล่าง
จากนั้นก็เอากระจกสีลายดอกพุดมาใส่ด้านบนที่เหลือ ก็ได้ออกมาหน้าตาแบบนี้ละครับ
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ลงมือทำกับตัวเองครับ คิดว่าจะทำช่องลมติดห้องนั่งเล่นด้านล่าง เพื่อให้อากาศและแสงสามารถลอดผ่านได้ ก็เลยไปเอาลูกติ่งไม้มาใส่กรอบไม้ดังภาพ ลงมือทำทั้งคืนเลยครับ หลังเลิกงาน
ประตูก็ใช้ประตูลูกฟักไม้เก่า เอามาลอกสีเก่าออกเองครับ โดยใช้น้ำยาลอกสีทาทิ้งไว้ แล้วก็ขูดออก ๆ
วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง พอมาถึงฤดูน้ำหลากก็เป็นดังสภาพที่เห็นครับ อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมต้องสร้างบ้านสูงครับ ช่วงนี้ช่างที่รับทำหลังคาและก็ตัวบ้านด้านบนก็เสร็จพอดีครับ ผมก็เลยพอได้พักสักระยะ รอน้ำลดแล้วค่อยมาลุยกันต่อ
หลังจากพักไประยะหนึ่งช่วงน้ำหลาก ผมก็ได้ไปหาช่างที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องงานปูน อันนี้สำคัญครับเพราะช่างไม้ก็จะเก่งเฉพาะงานไม้ ช่างปูนก็จะชำนาญเรื่องงานปูน ถ้าเราเอาช่างไม้มาทำงานปูนงานออกมาก็จะไม่ค่อยดีเท่าไรครับ ถ้าจำได้ในส่วนของชานบ้านที่เป็นปูนที่ผมได้ทุบทิ้งไป
ตอนนี้ผมได้ให้ช่างทำเพิ่มชานบ้านออกมาเหมือนเดิม โดยให้ไอเดียว่าชานที่ยื่นออกมานั้นจะทำเป็นห้องน้ำชั้นบ น-ล่าง แล้วก็เป็นระเบียงชั้นบน ใต้ระเบียงชั้นล่างเป็นห้องเล็ก ๆ สักห้อง ช่างก็ลงมือทำออกมาดังที่เห็น และช่างบางส่วนก่อไปทำการก่อบล็อคประกบเสาเดิมที่มีขนาด 7 นิ้ว ให้ใหญ่ขึ้นดังรูป
ด้านล่างของเรือนไม้หลังเล็ก บอกช่างว่าจะเอาไว้ทำห้องนั่งเล่น/ห้องโถงรับแขกไปในตัว ด้านหลังติดประตูไม้สักลูกฟักดังที่เห็น
ด้านหน้าบ้านเพิ่มเสาเข้าไป 2 ตัว กะว่าจะทำเป็นมุกหน้าบันไดหน้าบ้าน เอาไว้นั่งเล่นและเป็นกันสาดบันไดไปในตัว
ด้านในตัวบ้านที่ผมได้เจาะพื้นบ้านไม้ด้านบนรอไว้แล้วนั้น ก็ทำบันไดขึ้นไปโดยเลือกใช้บันไดไม้เก่าที่มีอยู่ครับ ผสมกับพักบันไดปูนเนื่องจากบ้านค่อนข้างสูง (เผื่อไว้ให้แม่เดินขึ้นบ้านเหนื่อยจะได้พักตรงนี้ก่อน) และผมก็ได้ติดตั้งช่องลมไม้ไว้ตรงข้างๆ บันไดนี่พอดี แสงจะได้ลอดเข้ามาครับ บริเวณนี้จะได้ไม่มืด
เวลาผ่านไปประมาณ 2 อาทิตย์ ในส่วนของการต่อเติมชานบ้านด้านล่างเสร็จแล้วครับ เสาทุกต้นก็พอกเสร็จแล้วครับ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตามเค้าร่างที่เคยออกแบบไว้แล้วล่ะสิ
ทำไปสักพักแม่กับแฟนแวะมาดูแล้วก็ถามว่าจะทำกับข้าวที่ไหน …. เอ่อ ผมนี่อึ้งเลย ไปปรึกษาญาติ ๆ ก็บอกให้ทำห้องครัวเพิ่มครับ ผมเลยต้องต่อเติมด้านหลังบ้านเพื่อทำให้ครัว ไอเดียคือห้องครัวแบบไทย ๆ ครับ โล่ง ๆ เน้นการใช้งาน ก็ให้ช่างดำเนินการลงเสาเลยครับ
ช่วงนี้ช่างก็ทำชานบ้านด้านบนเสร็จแล้วครับ อันนี้ก็อีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ลงมือทำเองเลยครับ กระจกสีลายดอกพุดที่เหลือจากการตกแต่งประตูหน้าบ้าน ผมก็เอามาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่เป็นช่อง ๆ ตรงประตูออกนอกระเบียงชั้นบนครับ
เพิ่มความอ่อนโยนให้กับเสาบ้านโดยการติดคิ้วบัวเข้าไป 2 ชิ้น ดังภาพครับ
ประตูเข้าห้องนั่งเล่นก็เป็นประตูไม้เก่าเอามาทำสีใหม่ครับ ตกแต่งเพิ่มเติมไปนิดหน่อย
จากนั้นก็เป็นการปูกระเบื้องพื้นด้านล่างครับ เลือกกระเบื้องสมัยใหม่แต่ลายออกโบราณ ๆ นิด ๆ ครับ จากโฮมโปร
จากนั้นก็เริ่มทำสีครับ ผมเลือกสีที่มีชื่อว่า Chiang Mai Rose ครับ
เรียบร้อยแล้วครับสำหรับการปรับปรุงบ้านไม้เก่ามรดกของคุณตา-คุณยาย ให้มีสภาพใช้งานได้ต่อไป ตอนนี้ 95% แล้วครับ เหลือเพียงการตกแต่งภายในเล็กน้อยกับการปรับภูมิทัศน์รอบ ๆ บ้านครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามกระทู้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาชิก หมายเลข 1789960 Pantip.com
ชอบค่ะมีบ้านไม้เก่าที่อาศัยอยู่มันผุเป็นบ้าน28ตรว2ชั้นข้างบนเป็นไม้อยากจะซ่อมแซมพร้อมเปลี่ยนประตูหน้าบ้านใหม่เป็นประตูเลื่อนเพราะจะทำที่จอดลดด้วยแต่ประหยัดที่สุดพอจะแนะนำได้มั้ยคะ