ไปไม่รอด! ความล่มสลายของ “ร้านเช่าหนัง VDO/CD/DVD”
สวัสดีครับ เพื่อนๆ เดี้ยวนี้ยังมีใครไปร้านเช่าหนังอีกไหมครับ admin ไม่ได้เข้ามาเป็น 10 ปีแล้วครับ เดี้ยวนี้เข้าเน็ตเปิดดูในคอม หรือมือถือ เร็วกว่าเยอะ ภาพ HD แจ่มกว่าตั้งเยอะ ไม่ต้องไปร้านเสียเวลาไปเช่า และคืน วันนี้ขอนำเสนอบทความของ คุณอินทรชัย พาณิชกุล จาก www.posttoday.com มาให้เพื่อนๆอ่านนะครับ ว่าเดี้ยวนี้เจ้าของร้านเช่าหนังเป็นยังไงกันบ้าง
ท่ามกลางวัฒนธรรมดาวน์โหลดที่แสนสะดวกง่ายดาย เพียงไม่กี่นาทีก็ได้หนังที่ต้องการมานั่งดูอย่างสบายใจ แถมคุณภาพระดับฟูลเอชดี ภาพคมชัด เสียงใสแจ๋วไม่แพ้ต้นฉบับ ส่งผลให้ร้านเช่าวีซีดี-ดีวีดีเจ๊งกันถ้วนหน้า
เหลียวมองรอบกาย คำถามเกิดขึ้นว่าวันนี้ยังมีร้านเช่าหนังหลงเหลืออยู่สักกี่ร้าน
“ร้านเช่าหนัง”ใกล้สูญพันธุ์?
ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน “ร้านเช่าหนัง”เปรียบได้ดั่งแลนด์มาร์คมิต่างจากเซเว่นอีเลฟเว่น ถนนทุกเส้นสาย บริเวณปากซอย สี่แยก ทางสามแพร่ง หรือหัวโค้งอันเป็นทำเลทอง จะต้องมีร้านวีดีโอตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า
“ช่วงหลังปี 2520 เป็นต้นมา แทบทุกอำเภอมีไฟฟ้าใช้ มีการขยายสัญญาณแพร่ภาพไปทั่วประเทศ ทำให้โทรทัศน์สีมีราคาถูกลง รวมทั้งเครื่องเล่นวีดีโอด้วย ทำให้หลายครอบครัวเข้าถึงได้ง่าย นิยมซื้อมาประดับบ้าน จนเกิดร้านเช่าวีดีโอขึ้นมากมายเต็มไปหมด นับเป็นทางเลือกใหม่ของความบันเทิงคนไทยพ.ศ.นั้น”เป็นคำบอกเล่าของ โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) และนักอนุรักษ์หนังคนสำคัญของไทย
ร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ ก็ถือเป็นตำนานบทหนึ่งที่คนดูหนังจดจำได้ดี
“ยุครุ่งเรืองของร้านเช่าหนัง ต้องบอกว่าถนนใหญ่ตลอดทั้งเส้น ทุกปากซอยจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งร้าน ร้านดังๆในกรุงเทพฯสมัยนั้นมีกรุงเทพวีดีโอ ประตูน้ำ นิวเวิร์ล วีไอพี เบสวีดีโอ และโฮมวีดีโอซึ่งเป็นร้านเช่าหนังแฟรนส์ไชน์ยุคแรกๆ ต่อมาคือบล็อกบัสเตอร์ สึทาย่า วีดีโออีซี่ ไม่ว่าจะร้านใหญ่ร้านเล็กทุกร้านทำกำไรได้หมด เพราะการเช่าวีดีโอมาดูที่บ้านถือเป็นความบันเทิงราคาถูก เป็นกิจกรรมพักผ่อนของทุกครอบครัว ถึงขนาดคนพูดกันว่าการเข้ามาของร้านเช่าวีดีโอตีโรงหนังซะเจ๊งไปเลย หนังยอดนิยมสมัยนั้นมีตั่งแต่หนังฝรั่งฮอลลีวู้ด หนังไทย ตลกคาเฟ่ โดยเฉพาะหนังฮ่องกงกับหนังชุดจีนกำลังภายใน เรื่องนึงนี่ก๊อปปี้กันร้อยกว่าชุดยังทำออกมาไม่ทัน ลูกค้าบางคนถึงขั้นมาเคาะประตูกลางดึกขอเช่าตอนต่อไป เพราะมันติดงอมแงมจริงๆ”ธานี จิริยะสิน วัย 57 เจ้าของร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ หัวเราะให้กับวันเก่าๆ
แน่นอนว่า ธุรกิจใดที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีย่อมมีความเปลี่ยนแปลงผันผวนรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง
“วิกฤตครั้งแรกที่บรรดาร้านเช่าหนังต้องเจอคือ ตอนที่พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ประกาศใช้ วีดีโอทุกม้วนต้องมีสติ๊กเกอร์ที่ผ่านตรวจเซ็นเซอร์ ผมต้องลบวีดีโอที่ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ทิ้งไปเป็นร้อยๆม้วน แต่ยังพอรับได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม แต่วิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดและรุนแรงที่สุดคือ ยุคที่เปลี่ยนจากเครื่องเล่นวีดีโอมาเป็นวีซีดี เพราะเครื่องเล่นวีซีดีมีราคาถูกลง แผ่นซีดีเปล่าก็ไม่แพงเท่าม้วนเทป แถมคุณภาพคมชัดกว่า คนเลยแห่ไปดูวีซีดี ตอนนั้นเองที่ร้านเช่าวีดีโอล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก แต่ผมมองว่ามันเป็นธุรกิจที่ผมรักและสร้างมันมากับมือ จึงตัดสินใจทำต่อเปลี่ยนเป็นวีซีดี และดีวีดี ตามยุคสมัย
ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมาใช้ระบบ ‘ขายขาด‘ แทนการ ‘เช่ายืม-คืน‘ เพราะมองแล้วว่าไม่เวิร์ค ไหนจะข้อจำกัดเรื่องเวลาไหนจะเรื่องการเดินทาง ถามว่าร้านเช่าหนังจะตายไหม คงไม่ถึงขนาดตายเรียบ แต่อาจจะเหลือน้อยมากๆ อย่างในอเมริกา ในยุโรปก็ยังมีร้านเช่าหนังอยู่ เราต้องใช้เสน่ห์ ใช้ความเป็นเอกลักษณ์ของร้านนั่นคือการเป็นแหล่งรวมหนังเก่าแก่หายาก หนังนอกกระแส หนังรางวัลที่หาจากที่ไหนไม่ได้นี่แหละเป็นจุดขาย”
ณ วันที่ร้านเฟมวีดีโอ ท่าพระจันทร์ ยืนยงคงกระพันมานานถึง 26 ปี ธานียอมรับว่าเป้าหมายทุกวันนี้ขอแค่พออยู่พอกิน ไม่ได้หวังร่ำรวย เพราะเข้าใจว่ายุครุ่งเรืองที่สุดได้ผ่านไปแล้ว
รักแท้แพ้ดาวน์โหลด
ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจร้านเช่าหนังตกต่ำย่ำแย่จนแทบล้มละลาย หนีไม่พ้นพฤติกรรมที่ผู้คนหันไปพึ่งเทคโนโลยีการดาวน์โหลด และค่าลิขสิทธิ์ที่แพงหูฉี่
อุดม ยุวนากร อีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ ยอมรับว่า การดาวน์โหลดที่ง่ายขึ้นทำให้เขาเลิกเดินเข้าร้านเช่าหนัง ทั้งที่ผูกพันมากว่าค่อนชีวิต
“ผมเป็นคนชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบออกไปไหน ว่างๆก็เดินออกไปเช่าหนังที่ร้าน ความสุขอยู่ตรงการที่ได้นั่งเลือกหนังที่เราไม่เคยดู หยิบปกขึ้นมาอ่าน พลิกอ่านอยู่อย่างนั้นได้เป็นชั่วโมงๆ เช่าเสร็จก็กลับบ้านมานอนดูคนเดียว เดี๋ยวนี้ตั้งแต่มีเว็บไซต์ให้โหลดง่ายๆ มีหนังแทบทุกเรื่องในนั้น แถมคุณภาพชัดแจ๋ว ใช้เวลาแป๊บเดียวก็ได้ดูแล้ว หลังจากนั้นเลยเลิกเช่า โหลดดูอยู่บ้านง่ายกว่า … เอาเข้าจริง ถึงอยากจะเดินเข้าร้าน ก็แทบไม่มีร้านเช่าหนังเหลือแล้วครับ”
ขณะที่อดีตผู้จัดการร้านเช่าวีซีดีรายหนึ่งให้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับอุปสรรคสำคัญของร้านเช่าหนังว่า
“ค่าลิขสิทธิ์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยกตัวอย่างร้านใหญ่ที่มีแฟรนส์ไชส์เขาต้องซื้อลิขสิทธิ์จากทุกค่าย เพื่อจะได้มีหนังมาลงในร้านเยอะๆ บางค่ายราคาสูงถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือน บางค่าย 2 หมื่น ไหนจะต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าลูกจ้าง สวนทางกับจำนวนลูกค้าที่น้อยลงทุกวัน ก็ขาดทุนเจ๊งไป ส่วนร้านเล็กๆบ้านๆเขาไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้ทุกค่ายหรอก บางร้านซื้อไหวแค่ค่ายเดียว ที่เหลือก็ต้องใช้วิธี ‘หลบ’หมายถึงไปซื้อแผ่นผีราคาถูกมาไรท์ให้เช่า แบบนี้ถ้าโดนจับละเมิดลิขสิทธิ์โดนปรับหนัก”
ความทรงจำดีๆที่ยากจะลืม ยังจำกันได้ไหม?
ความรู้สึกขณะเดินเข้าไปในร้านเช่าหนัง นั่งๆยืนๆสอดสายตาหาหนังน่าสนใจ หยิบขึ้นมาดูทีละปก พลิกอ่านเรื่องย่อ สงสัยอะไรก็ไถ่ถามเจ้าของร้านผู้รอบรู้ไม่ต่างจากเอนไซโคพีเดียด้านภาพยนตร์เคลื่อนที่ จมอยู่ในนั้นได้นานเป็นชั่วโมงโดยไม่รู้สึกเบื่อ
“แถวบ้านผมที่วงเวียนใหญ่ เมื่อเกือบๆ 10 ปีที่แล้ว มีร้านเช่าหนังชื่อ “วันชัยสตาร์” ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ทุกๆวันตอนหนึ่งทุ่ม ทางร้านจะเปิดหนังให้ดูฟรีที่หน้าร้าน คนที่มาดูก็จะเตรียมเก้าอี้เล็กๆ กระติกน้ำมารอดูหนัง แต่ละวันมีคนมาดูประมาณ 10-20คนได้ วันไหนถ้าเจ้าของร้านใจดีเปิดหนังใหม่หน่อย คนก็จะมาดูเพียบ มีร้านขายขนมมารอขายคนดูหนังด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว”เป็นความทรงจำเก่าๆของ อ้วน นักเช่าหนังวัย 30 ต้นๆที่ยังคิดถึงอดีตอันแจ่มชัดได้ไม่ลืมเลือน
ขณะที่ พูนศักดิ์ เลิศรายา นักโฆษณาหนุ่มใหญ่ บอกว่า ร้านเช่าหนังถือเป็นบ้านอีกหลังของเขาเลยก็ว่าได้
“ประมาณ 8-9 ขวบ จำได้ว่าทุกเย็นหลังเลิกเรียน หรือช่วงวันหยุด ปิดเทอม ผมจะหมกตัวอยู่ในร้านเช่าวีดีโอแถวบ้าน นั่งดูปก ดูเรื่องย่อท้ายม้วน พลางถามโน่นถามนี่พี่เฝ้าร้าน แกก็ตอบได้ไม่เบื่อ จนหลังๆสนิทกันแกก็เปิดหนังฟรีให้ดูตามใจชอบ บางครั้งได้เงินมาเช่าแกก็แถมฟรีเรื่องนึง เก็บหนังใหม่ๆชนโรงไว้ให้ผมคนแรก ยิ่งเรื่องปรับเงินเพราะคืนไม่ตรงเวลานี่ไม่มีแน่นอน พูดง่ายๆโตมากับร้านวีดีโอเลย แต่วันหนึ่งพอเริ่มมีวีซีดีเข้ามา ก็เริ่มโละสต๊อกม้วนวีดีโอทิ้ง จากนั้นอีกไม่ถึงสองเดือน ร้านก็เจ๊ง คิดถึงแล้วก็เสียดาย”
นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังเด็กไม่สามารถไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้ทุกเรื่อง ร้านเช่าหนังคือสิ่งเติมเต็มที่ขาดไม่ได้
“สมัยเด็กๆ การไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ไม่ใช่ว่าจะดูได้ทุกเรื่อง เพราะทั้งแพง ทั้งไกล พอมีร้านเช่าหนังอยู่ใกล้บ้าน ราคาแผ่นละ 20 บาท แถมยังมีโปรโมชั่นพิเศษแถมอีก มันเลยเป็นทางเลือกให้เราสามารถดูหนังได้บ่อยๆ ทั้งหนังอินดี้ หนังต่างประเทศที่ไม่ได้เข้าโรงใหญ่ ถ้าโลกนี้ไม่มีร้านเช่าหนัง ผมก็อาจจะได้ดูหนังน้อยกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ ความสนุกที่ผมได้สัมผัสคือ การวิ่งแข่งกันไปเช่าหนังใหม่ เราต้องลุ้นว่าไปแล้วจะมีไหม ถ้ามีคนเช่าไปก่อนก็เดินคอตกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็ต้องรีบมาดูว่าเขาคืนแล้วหรือยัง มันเป็นความทรงจำขำๆที่เราจำได้”
ผู้กำกับชื่อดังยอมรับว่า ไม่ได้เข้าร้านเช่าหนังนานหลายปีแล้ว เนื่องจากร้านใกล้บ้านล้มหายตายจากไปหมด
“มันเป็นอนิจจัง รุ่งเรืองสุดๆได้ก็มีวันตกต่ำได้ พฤติกรรมคนส่วนใหญ่มองว่าอันไหนสะดวกกว่าก็เลือกใช้อันนั้น มันเป็นเรื่องปกติครับสำหรับการเปลี่ยนฟอร์แมท เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
ทั้งหมดนี้คือความรู้สึกดีๆที่มีต่อร้านเช่าหนัง ซึ่งอาจไม่มีให้เห็นอีกแล้วในวันพรุ่งนี้
ขอขอบคุณข้อมูล คุณอินทรชัย พาณิชกุล จาก www.posttoday.com
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น