“ตะกอนในน้ำ” แก้ยังไง ? ให้น้ำกลับมาใสเหมือนเดิม
ปัญหา “ตะกอนในน้ำ” เป็นปัญหาที่หลายบ้านต้องเจอ ส่วนใหญ่เชื่อว่าการที่น้ำมีตะกอน หรือน้ำประปาสกปรกเป็นปัญหาที่เกิดจากต้นน้ำ ซึ่งก็คือหน่วยงานอย่างการประปาภูมิภาค หรือการประปานครหลวง แต่อีกปัจจัยที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป คือเรื่องของอุปกรณ์ระบบประปาใกล้ตัวภายในบ้านของเรานั่นเอง วันนี้เราจะพามาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดตะกอนในน้ำกัน
ตะกอนในน้ำเกิดจากอะไร ?
1. การซ่อมท่อจากทางการประปา
เนื่องจากท่อประปานั้นจะวางอยู่ใต้ดิน หากมีปัญหาท่อแตกรั่วจนต้องมีการซ่อมแซม ระหว่างขั้นตอนการซ่อมแซมก็มีโอกาสสูงที่จะมีดินโคลนปนเปื้อนเข้าไปในน้ำ ซึ่งแม้จะมีการนำออกบริเวณจุดดับเพลิงและฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน แต่ก็อาจมีดินโคลนตกค้างมาบ้าง
2. เนื่องจากน้ำประปาเป็นระบบกรอง
ไม่ใช่ระบบกลั่น ความขุ่นไม่เกิน 5 NTU จาก 0-5 จึงมีตะกอนแฝงอยู่ในน้ำบางส่วน ซึ่งตะกอนพวกนี้จะตกภายในท่อน้ำ กรณีที่มีการหยึดจ่ายน้ำเพื่อซ่อมท่อ มีการลดแรงดัน เพิ่มแรงดันต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการกวนน้ำในท่อส่งให้ตะกอนเกิดการฟุ้งขึ้นมา และไหลไปกองอยู่บริเวณจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณปลายท่อน้ำ
ปัญหาตะกอนในน้ำบาดาล
สำหรับบ้านที่ใช้น้ำประปาจากน้ำบาดาล มักจะเจอปัญหาตะกอนในน้ำมากเป็นพิเศษ เพราะในน้ำบาดาลมักจะมีหินปูนและเหล็กมากกว่าน้ำจากแหล่งอื่น
กรณีที่น้ำประปาสกปรกเนื่องจากน้ำมีตะกอนสนิม และสีขุ่น เกิดจากท่อส่งน้ำประปาเดิมที่ใช้น้ำบาดาลมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี ก่อให้เกิดตะกรันที่ติดอยู่ภายในท่อเดิม เมื่อปรับเปลี่ยนระบบการผลิต แรงดันสูงขึ้น จึงทำให้ตะกรันหลุดปะปนมากับน้ำประปา เกิดเป็นตะกอนในน้ำและน้ำเป็นสีขุ่น มีสนิมได้
น้ำมีตะกอนจากอุปกรณ์ประปาในบ้าน
1. ท่อประปา
หากท่อประปาภายในบ้านเป็นท่อเก่าที่ใช้งานมานาน หรือเป็นท่อเหล็กอาบสังกะสีที่มีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี อาจมีปัญหาท่อเป็นสนิมอุดตัน หรือผุกร่อนได้ง่าย ทำให้คุณภาพน้ำประปาเปลี่ยนไปจนน้ำประปาสกปรก มีคราบแดงเนื่องจากน้ำมีตะกอนสนิมปะปนอยู่ ดังนั้น หากพบว่าท่อเก่าเป็นสนิมควรรีบเปลี่ยนใหม่ทันที
2. ท่อและอุปกรณ์ประปาแตกรั่ว
หากพบว่ามีการรั่วไหลเกิดขึ้น จากถังชักโครกหรือถังเก็บน้ำที่ลูกลอยชำรุด ไปจนถึงการรั่วไหลจากท่อแตกรั่วใต้ดินที่มองไม่เห็น ควรรีบซ่อมแซมอุปกรณ์เหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เพราะนอกจากท่อและอุปกรณ์ที่รั่วจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำประปาแล้ว อาจเป็นเหตุให้สิ่งสกปรกเข้าไปในท่อจนทำให้เกิดตะกอนในน้ำและน้ำประปาสกปรกตามมา
3. ปั๊มน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำ
กรณีที่มีการติดตั้งปั๊มน้ำ หรือเครื่องสูบน้ำที่สูบน้ำจากเส้นท่อโดยตรง จะทำให้ดูดสิ่งสกปรกจากบริเวณใกล้เคียง เช่น น้ำขุ่นจากท่อน้ำที่แตกรั่ว หรือน้ำขุ่นแดงจากท่อสนิม เข้ามาในระบบท่อประปาภายในบ้านด้วย
ดังนั้น จึงควรติดตั้งถังพักน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ก่อน แล้วจึงสูบจากถังพักน้ำนั้นจ่ายไปยังท่อประปาภายในบ้านอีกที ก็จะได้น้ำที่สะอาดปลอดภัย ไม่มีตะกอนในน้ำปนแทรกเข้ามา
4. ถังพักน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือแท้งค์น้ำ
ควรล้างทำความสะอาดและหมุนเวียนน้ำในถังพักน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือ แท้งค์น้ำ อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะหากไม่มีการล้างทำความสะอาดเลย อาจทำให้สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เล็ดลอดเข้าไปและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้น้ำประปาสกปรกจากสิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว
5. เครื่องกรองน้ำ
อุปกรณ์กรองน้ำเพื่อความสะอาดอย่างเครื่องกรองน้ำ หากใช้งานมานานแล้วไม่เปลี่ยนไส้กรองหรือสารกรองตามกำหนด หรือไม่มีการล้างทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำเลยก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรียดี ๆ นั่นเอง
6. อุปกรณ์จ่ายน้ำในบ้าน
อุปกรณ์จ่ายน้ำในบ้านที่ใช้งานมานาน เช่น ก๊อกน้ำ ฝักบัว สายชำระ และอุปกรณ์อื่น ๆ ก็ควรดูแลความสะอาด และหมั่นตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและโอกาสเกิดน้ำประปาสกปรกจากการปนเปื้อนผ่านอุปกรณ์เหล่านี้
สนใจลงโฆษณากับทาง Homenayoo ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่
คุณวันเฉลิม 086-1290293
ทางเราเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ไม่ใช่เจ้าของโครงการนะครับ
แสดงความคิดเห็น